‘ปานปรีย์’ เผยนายกฯเยือนกัมพูชา 28 ก.ย.ไม่มีวาระถก ‘พื้นที่ทับซ้อน’ 2 ประเทศ
“ปานปรีย์” เผย “เศรษฐา” เยือนกัมพูชารอบแรก ยังไม่มีวาระเจรจาพื้นที่ทับซ้อน เตรียมคุยปัญหาชายแดน แก้คอลเซนเตอร์ เตรียมดูโครงสร้างคณะกรรมการเจรจาใหม่หลังเปลี่ยนรัฐบาล
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่าในการเดินทางเยือนประเทศกัมพูชา อย่างเป็นทางการ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะในวันที่ 28 ก.ย.ที่จะถึงนี้ถือเป็นการเยือนประเทศในอาเซียนเป็นครั้งแรกหลังจากที่นายกรัฐมนตรีขึ้นมาดำรงตำแหน่ง มีหลายประเด็นการหารือกับทางกัมพูชาหลายเรื่อง เช่น ความร่วมมือเรื่องการค้าผ่านแดน การแก้ปัญหาชายแดน การแก้ไขปัญหา call center และการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
เมื่อถามว่าจะมีการหารือในเรื่องของประเด็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชาหรือไม่ นายปานปรีย์กล่าวว่าในการประชุมเตรียมการกับนายกรัฐมนตรีไม่มีประเด็นในเรื่องนี้แต่ก็ไม่ทราบว่าทางกัมพูชาได้เตรียมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือหรือไม่
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันมานานแล้ว แต่ในการหารือกันในครั้งนี้ยังไม่ได้มีการหารือกันในครั้งนี้”
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะกรรมการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนระหว่างสองประเทศในส่วนนี้จะเข้าไปพิจารณาดูโครงสร้างของกรรมการด้วยหรือไม่ นายปานปรีย์ตอบว่าก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูในเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวไทยที่ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาแล้วหายตัวไปรัฐบาลไทยจะมีการพูดคุยกับทางกัมพูชาด้วยหรือไม่เพราะญาติของผู้สูญหายตั้งความหวังกับเรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเข้ามาถ้ามีข้อมูลเข้ามาแล้วรัฐบาลก็จะประสานงานกับทางกัมพูชาในเรื่องนี้ต่อไป
- เปิดข้อมูลพื้นที่ทับซ้อนสองประเทศ
พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล มี 26,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งการเจรจาเป็น 2 ส่วน คือ
1.พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ
2.พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA) ในลักษณะที่คล้ายกับทที่ไทยทำ JDA ร่วมกับมาเลเซีย
ทั้งนี้ ในอดีตเคยมีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล โดยการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับมาเลเซียสรุปเป็น JDA ในปี 2522 ใช้เวลาเจรจา 11 ปี ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับเวียดนามใช้วิธีแบ่งเส้นเขตแดนเมื่อปี 2540 ใช้เวลาเจรจา 7-8 ปี ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามให้น้ำหนักกับพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้มากกว่า
โดยพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพปิโตรเลียม โดยพื้นที่ฝั่งไทยที่ติดกับพื้นที่ทับซ้อนมีการพบปิโตรเลียมแล้ว เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งอาทิตย์ จึงมีแนวโน้มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งรัฐบาลไทยให้สัมปทานไปเมื่อปี 2511 และให้หยุดสำรวจตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2518 ที่ให้ยุติการสำรวจในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ทำให้การให้สิทธิสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาหยุดลงด้วย
ทั้งนี้ สิทธิสัมปทานยังคงเป็นของผู้รับสัมปทาน โดยรัฐบาลไม่ได้ประกาศยกเลิกเพื่อเป็นการยืนยันว่าไทยยังอ้างสิทธิอย่างสมบูรณ์ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลสัมปทานในขณะนั้นได้หยุดนับเวลาอายุสัมปทานจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผู้รับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย
1.แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรมี Chevron E&P สัดส่วน 20% ,Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% ,Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%
2.แปลง B7,B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตร คือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%
3.แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%
4.แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20%
และ 5.แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.