‘คมนาคม’ หนุนแผนขนส่งทางราง เชื่อมนิคมฯ ทั่วประเทศ ลดต้นทุน อุตฯ แข่งขันได้

‘คมนาคม’ หนุนแผนขนส่งทางราง เชื่อมนิคมฯ ทั่วประเทศ ลดต้นทุน อุตฯ แข่งขันได้

“คมนาคม” ดันแผน R-Map เชื่อมโครงข่ายรางกับนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ หนุนเปลี่ยนขนส่งทางถนนเป็นระบบราง ชี้ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ช่วยอุตสาหกรรมในประเทศแข่งขันได้

นายจิรโรจน์ ศุกลรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค กระทรวงคมนาคม กล่าวเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาโครงข่ายขนส่งเพื่อความยั่งยืนในอนาคต” จัดโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 ว่า ภาพรวมของการคมนาคมในประเทศไทยนั้น ย้อนไปในอดีตมีการพัฒนาด้านถนนเป็นจำนานมาก ทำให้รูปแบบการขนส่งหลักในไทยอยู่บนถนน ซึ่งนำไปสู่ต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ที่ตามมา อาทิ การจราจรติดขัด ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ฝุ่นมลภาวะ PM2.5 

ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบายที่จะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนโหมดการเดินทางจากบนถนนมาสู่ระบบรางมากขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้และปูทางไปสู่การสร้างโครงข่ายขนส่งในอนาคตที่มีความยั่งยืน

“เรื่องสำคัญหลักสำหรับคมนาคม คือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนโหมดไปสู่ระบบรางให้ได้ ซึ่งนอกจากจะลดปัญหาเรื่องฝุ่นควันแล้วยังช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของภาคเอกชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับไทย”

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ R-Map โครงข่ายทางรางที่จะเข้าไปเชื่อมต่อกับนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อให้สินค้าภาคอุตสาหกรรมสามารถขนส่งทางรางได้ตั้งแต่ต้นทางไปสู่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออก โดยคาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ 

สำหรับการพัฒนาระบบรางในกทม. แล้วเสร็จรวมระยะทาง 240 กิโลเมตร และยังมีโครงการที่กำลังก่อสร้าง อาทิ สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูนลงมา สายสีส้มตะวันออกใกล้แล้วเสร็จ ส่วนสายสีส้มตะวันตกยังติดปัญหาด้านเทคนิค

อย่างไรก็ดี โจทย์สำคัญคือการทำอย่างไรในการเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนให้เข้ามาใช้งานระบบราง ซึ่งสิ่งคัญคือการบริการที่มีความสะดวกในการใช้งาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อวันที่ต้องสมเหตุสมผลกับค่าแรง

“สำหรับการปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คมนาคมกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง เบื้องต้นสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน สามารถทำได้ก่อน โดยมองว่าในระยะยาวจะช่วยเพิ่มผู้โดยสารมากขึ้น”

นายวัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ในเรื่องการขนส่ง เรื่องแรกคือความสะดวกสบายในการใช้งาน ที่จะต้องมีการพัฒนาระบบขนส่งรอง (ฟีดเดอร์) ที่พาคนเดินทางจากบ้านไปยังระบบขนส่งหลัก สอง คือเรื่องความเชื่อมต่อในการให้บริการ ส่งเสริมให้เกิดระบบตั๋วใบเดียว ให้สามารถใช้ได้กับทุกการเดินทาง