ก.ม.ใหม่เชือด โซเชียลมีเดีย ร่วมรับผิด ถ้าปล่อยคนไทยเป็นเหยื่อโจรออนไลน์
'ดีอี' การันตี 13 ม.ค.นี้ ครม.จ่อผ่าน
พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ คาดไม่เกิน 3 วันมีผลบังคับใช้ทันที ระบุนอกจากแบงก์-ค่ายมือถือต้องร่วมรับผิด หากปล่อยช่องโหว่ทำประชาชนตกเป็นเหยื่อ ยันเอาผิดเฟซบุ๊ก-TikTok ด้วย
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอีเร่งเสนอขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเสนอในการประชุมครม.วันที่ 13 ม.ค.นี้
หลังจากที่ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติม โดยสาระสำคัญการแก้ไขกฎหมาย คือการให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ร่วมรับผิดชอบคืนเงินให้ผู้เสียหาย ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบ ครม.แล้ว ภายใน 3 วันต้องนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ทันที
รมว.ดีอี เผยว่า กระทรวงดีอียังมีแผนที่จะออกมาตรการเสริม คือ การควบคุมการขายซิมการ์ดของนิติบุคคล ซึ่งมีการซื้อขายจำนวนมาก แต่ไม่มีการกำหนดให้มีการลงทะเบียน เพื่อป้องกันการใช้ในกิจกรรมผิดกฎหมาย โดยจะมีการหารือออกมาตรการกับทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช.
นอกจากนี้ ยังจะเชื่อมโยงข้อมูลธนาคารจ่างๆ กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อหยุดวงจรการฟอกเงิน โดยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กสทช., โอเปอเรเตอร์ และสถาบันทางการธนาคาร จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น การตรวจสอบบัญชีม้า, การคัดกรองการโอนเงิน และการควบคุมระบบการเงินดิจิทัลที่มิจฉาชีพเปลี่ยนการโอนเงิน เป็นสกุลเงินดิจิทัล เช่น คริปโทเคอร์เรนซี เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมาได้ใช้มาตรการ การกำหนดให้ผู้ส่งข้อความสั้น (SMS) แนบลิงค์ ต้องลงทะเบียนชื่อและตรวจสอบเนื้อหากับโอปอเรเตอร์ ก่อนที่จะมีการส่งด้วย
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า กระทรวงดีอี ได้เร่งรัดการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ และเว็บไซต์ ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ เพื่อเป็นการตัดวงจรช่องทางการก่ออาชญากรรมที่สำคัญของขบวนการมิจฉาชีพ ซึ่ง ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2568 ตั้งแต่เดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2567 รวมระยะเวลา 3 เดือน ได้ดำเนินการปิดกั้นไปแล้ว 52,691 รายการ หรือเฉลี่ย 17,564 รายการต่อเดือน เพิ่มขึ้น 0.69 เท่าตัว จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 67 ที่ปิดกั้น 31,154 รายการ หรือ เฉลี่ย 10,385 รายการต่อเดือน
ด้านแหล่งข่าว จากกระทรวงดีอี กล่าวว่า กฎหมายฉบับแก้ไขที่นำเข้าที่ประชุม ครม. ยังรวมถึงการกำหนดแนวทางสำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก และ TikTok ให้มีส่วนร่วมในการคัดกรองเนื้อหาและโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง หากไม่ปฏิบัติตามหรือปล่อยปะละเลยถือว่าความผิดตามกฎหมายด้วย