ส่งออกปี67 โตเด่น"ศุภชัย"ฟันธง อานิสงค์เศรษฐกิจจีนพ้นปากเหว
รัฐบาลประกาศว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวปีละ 5% แต่ปี2566 ที่กำลังจะผ่านไปนี้หลายสำนักบอกว่าเศรษกิจไทยน่าจะโตไม่เกิน 3% ขณะที่เครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ถึง 80%
อย่าง“การส่งออก”นั้นปี 2566 มีโอกาสไม่เติบโตหรือติดลบ อย่างคาดการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) บอกว่าส่งออกปี2566 จะติดลบ 1.8 แต่หนักกว่านั้น คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน หรือ กกร. บอกว่าจะติดลบ 2.0-0.5%
ปัจจัยถล่มภาคการส่งออกของไทยปีนี้มาจากหลายด้าน จึงไม่น่าแปลกที่การส่งออกจะอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง แต่ในปี 2567 แม้ยังไม่มีภาพการคาดการณ์ที่ชัดเจน แต่ก็มีสัญญาณที่ดีว่าปีหน้าจะเป็นปีที่สดใสสำหรับการส่งออกไทย
ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการส่งออกไทยว่า ปี 2567 เป็นปีที่การส่งออกจะดีกว่าปี2566 ขณะที่การส่งออกปีนี้ต้องยอมรับว่าไม่น่าจะดีขึ้น
สาเหตุหลักที่การส่งออกไทยปี 2567 จะดีขึ้นมาจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะฟื้นตัวเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2566 ถือว่าแย่มากเพราะการส่งออกของจีนไม่ดี เช่นเดียวกันการนำเข้าที่จีนไม่ซื้อสินค้าจากต่างประเทศเลย ส่วนเศรษฐกิจภายในประเทศจีนเองก็พังหมด จากปัญหาอสังหาริมทรัพย์และปัจจัยอื่นๆที่ต่อเนื่องมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้จีนต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาให้ได้ หากไม่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วปล่อยให้ซึมตัวไปนานจะแก้ไขยาก ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในปี 2567 แม้ว่าปีนี้ถือว่าไม่น่าดีขึ้นได้อีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ไทยควรทำการค้าขายในอาเซียนด้วยกันเองให้มากขึ้นและลดการพึ่งพาประเทศมหาอำนาจ ทั้งนี้การทำอาเซียนด้านเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่ดีมากในการค้าขายภายในอาเซียนด้วยกันเองไม่ต้องไปพึ่งประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมีหลายสัญญาณที่ไทยต้องทำตัวเองให้เข็มแข็ง ทั้งการที่ผู้นำสหรัฐเดินทางมาอาเซียนหลายครั้งแต่ไม่เคยเดินทางมาเยือนไทย ปัญหาสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
นอกจากนี้ ประเด็นข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันในรายละเอียดให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรอง เช่น กรณีเวียดนามที่นำเสนอผลประโยชน์ให้มากทำให้หลายประเทศพร้อมที่จะทำเอฟทีเอกับเวียดนาม และเมื่อได้เอฟทีเอแล้วก็ควรบริหารจัดการโดยให้กลุ่มที่ได้ประโยชน์จ่ายคืนส่วนต่างในรูปแบบภาษี หรือรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสมเพื่อนำไปดูแลกลุ่มที่เสียประโยชน์
ทั้งนี้ ข้อตกลงการค้าที่เป็นประโยชน์มากในขณะนี้คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ RCEP เป็นแนวทางที่ดีเพราะเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีกับประเทศหรือกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาแล้วซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางการค้าที่ดีต่อไป
เว็บไซต์นิกเกอิเอเชีย รายงานว่า จีนได้ประกาศจะขยายการนำเข้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนให้มากขึ้น หลังจากการค้าในภาพรวมของจีนชะลอตัวอันเนื่องมาจากความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง
“จีนพร้อมที่จะนำเข้าสินค้าที่มีศักยภาพและโดดเด่นจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้น” นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีนกล่าวระหว่างการประชุมไชน่า-อาเซียน เอ็กซ์โป ที่เมืองหนานหนิง เมื่อกลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้ชาติอาเซียนมุ่งพัฒนาระบบการเชื่อมต่อและซัพพลายเชนอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนกลายเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดกับจีนมาตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วบางแห่งเริ่มสั่นคลอนหนักขึ้น
ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ตัวเลขการส่งออกของจีนปรับตัวลดลง 5.6% จากผลกระทบการค้ากับประเทศคู่ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) ที่ปรับตัวลงหนัก และยังฉุดให้ตัวเลขนำเข้าของจีนลดลงถึง 7.6% นำโดยสินค้าในกลุ่มจอแอลซีดีและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ดิ่งลงหนักถึง 27%
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปอาเซียนที่ขยายตัวขึ้นสามารถช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าวลง โดยอาเซียนหันมานำเข้าสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรจากจีนมากขึ้น แทนที่สินค้าจากญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าก็เป็นปัจจัยส่งเสริมอย่างหนึ่งแต่ยังมีอีกหลายปัจจัยทั้งการกำหนดนโยบายที่จะเพิ่มศักยภาพการส่งออกไทย และขีดความสามารถภาคเอกชที่ต้องแข่งขันได้ในเวทีระหว่างประเทศ