ไทยส่งออกข้าว 8 เดือน 5.2 ล้านตันเพิ่ม 10.4 %
ผู้ส่งออกข้าว เผย เดือน ส.ค.ไทยส่งออกข้าวได้ 6.3 แสนตันเพิ่ม 4.3 % มูลค่า 12,953 ล้านบาท เหตุผู้นำเข้าเร่งนำเข้าข้าวเพื่อชดเชยสต๊อคข้าวที่ลดลง ชี้บาทอ่อนค่าช่วยหนุนส่งออก ขณะที่ 8 เดือน ส่งออกข้าว 5.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10.4%
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวในเดือนส.ค. 2566 มีปริมาณ 630,567 ตัน เพิ่มขึ้น 4.3% มูลค่า 12,953 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% เนื่องจากในเดือนส.ค. 2566 การส่งออกข้าวขาวและกลุ่มข้าวหอมมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากผู้นำเข้ายังคงเร่งนำเข้าข้าวเพื่อชดเชยสต็อคในประเทศที่ลดลง ท่ามกลางภาวะอุปทานข้าวในตลาดโลกตึงตัวหลังจากที่ประเทศอินเดียห้ามส่งออกข้าวขาวและเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่ง 20%
รวมทั้งมีการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำของข้าวบาสมาติ ซึ่งต่างสร้างความกังวลให้กับผู้ซื้อ จึงทำให้ต้องหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น ส่งผลมีการส่งออกข้าวขาวปริมาณ 377,945 ตัน เพิ่มขึ้น 22.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย โมซัมบิก แองโกล่า อิรัก ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เป็นต้น
ขณะที่การส่งออกข้าวนึ่งปริมาณ 81,269 ตัน ลดลง 45.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน เบนิน แคเมอรูน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) ปริมาณ 108,058 ตัน เพิ่มขึ้น 26.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ ไอวอรี่โคสต์ เป็นต้น
ส่วนภาพรวมการส่งออกข้าวในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ส.ค. 2566) มีปริมาณ 5,274,360 ตัน เพิ่มขึ้น 10.4% มูลค่า 2,949.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 19.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565
สมาคมฯคาดว่าในเดือนก.ย. 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 700,000-800,000 ตัน เนื่องจากผู้นำเข้าที่สำคัญในกลุ่มอาเซียน แอฟริกา และตะวันออกกลาง ยังคงต้องนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องทั้งข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอม เพื่อชดเชยสต็อคในประเทศที่ลดลง และเก็บสำรองไว้ใช้ในช่วงปลายปี เพราะยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับอุปทานข้าวในตลาดที่อยู่ในภาวะตึงตัว
ประกอบกับยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียว่าจะมีผลไปจนถึงเมื่อไหร่ ขณะที่ประเทศผู้นำเข้า ที่สำคัญในแถบเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนิโญ่ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตในประเทศ จึงต้องเร่งจัดหาข้าวเพื่อเก็บสำรองไว้ ซึ่งประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังคงส่งออกข้าวได้ตามปกติ
สำหรับราคาข้าวไทยในช่วงนี้มีแนวโน้มอ่อนตัวลงตามภาวะค่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าลง ซึ่งถือปัจจัยบวกที่ช่วยดึงความสนใจให้ผู้ซื้อหันมาหาข้าวไทยมากขึ้น โดยข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 27 ก.ย.2566 อยู่ที่ 608 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ 613-617 ดอลลาร์ต่อตันและปากีสถานอยู่ที่ 598-602 ดอลลาร์ต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 610 ดอลลาร์ ต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของปากีสถานอยู่ที่ 573-577 ดอลลาร์ต่อตัน