DSI ผนึก 'ปศุสัตว์-ศุลกากร' เผาทำลายซากสุกรแช่แข็งลักลอบนำเข้า
DSI ร่วม ปศุสัตว์ ศุลกากร เผาทำลายของกลางในคดีพิเศษที่ 59/2566 (ซากสุกรแช่แข็ง) เน่าแล้ว 7 ตู้ โดยวิธีเผาทำลาย ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนทยอยฝังกลบ หลังสภาพอากาศที่ จังหวัดสระแก้ว เอื้ออำนวย
วันที่ 29 ก.ย.2566 พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นำคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อส่งมอบ - รับมอบ และนำตู้สินค้าประเภทซากสุกรของกลางลักลอบนำเข้า 161 ตู้ ในคดีพิเศษที่ 59/2566 กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมายไปทำลาย
การส่งมอบซากสุกรของกลางดังกล่าว เป็นไปตามหนังสืออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด่วนที่สุดที่ ยธ 0827/2617 ลงวันที่ 26 กันยายน 2566 ถึง อธิบดีกรมศุลกากร เรื่อง ขอให้พิจารณาเรื่องการดำเนินการกับวัตถุพยานในคดี กรณีสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการตรวจยึดตู้สินค้า จำนวน 161 ตู้ ที่ทำการตรวจยึดและดำเนินการตามกฎหมายศุลกากรว่าด้วยเรื่องของตกค้างสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกันตรวจสอบของกลางดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 5 - 14 กรกฎาคม 2566 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้มีการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ณ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันให้นำของกลางดังกล่าวไปทำลายตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 มีการประชุมพิจารณาการทำลายของกลาง (ซากสุกร) ที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ที่ประชุมประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ที่ประชุมมีมติให้มีการทำลายซากสุกร นำเข้าจากต่างประเทศ จำนวน 161 ตู้ ในวันที่ 29 กันยายน 2566 โดยจะใช้วิธีเผาทำลาย ณ สำนักชลประทานที่ 9 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เบื้องต้นจะเริ่มทำลายครั้งละ 10 ตู้ โดยมี ฯพณฯ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในการเผาทำลายของกลางครั้งนี้
สำหรับตู้สุกรแช่แข็งทั้ง 161 ตู้ พบว่ามีตู้เน่าทั้งหมด จำนวน 7 ตู้ ซึ่งจะดำเนินการเคลื่อนย้ายมาเผาทำลายก่อนจำนวน 10 ตู้ จากนั้นจะดำเนินการทำลายตู้สุกรแช่แข็งทั้ง 161 ตู้ โดยเริ่มจากเผาทำลาย 10 ตู้ก่อน มีวิธีการทำลายหลักคือการเคลื่อนย้ายไปฝังกลบในจังหวัดสระแก้ว แต่เนื่องจากเป็นช่วงมรสุม อาจจะมีการสลับกับการเผาที่สำนักงานชลประทานที่ 9 จังหวัดชลบุรี ในช่วงที่มีปัญหาฝนตก
พิธีการทำลายของกลางดังกล่าวในครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำลายของกลางครั้งประวัติศาสตร์ ที่มีการทำลายสินค้าลักลอบจำนวนมากถึง 4.5 ล้านกิโลกรัม หรือ 4 พันตัน มูลค่ารวมกว่า 450 ล้านบาท
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากกรมศุลกากรได้ทำการสำรวจของค้างบัญชีเรือที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรเกินกำหนดเวลา 30 วัน โดยไม่มีใบขนสินค้าอันได้รับรองและไม่ได้เสียอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้น
รวมถึงไม่มีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของ จึงได้ทำการเปิดสำรวจและพบว่าเป็นสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตในการนำเข้าจากกรมปศุสัตว์
ต่อมากรมศุลกากรดำเนินการจัดทำหนังสือถึงกรมปศุสัตว์แจ้งการส่งมอบซากสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ เพื่อให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการทำลายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการทำลายหรือจัดการโดยวิธีอื่นซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ที่ถูกยึดหรืออายัดไว้ กรณีนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 และข้อตกลงระหว่างกรมปศุสัตว์กับกรมศุลกากร เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีที่มีการจับกุมดำเนินคดีลักลอบนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร
นอกจากนี้ ในการดำเนินคดีอาญา กรมศุลกากรได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขอให้สืบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
ต่อมา DSI รับกรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร เป็นคดีพิเศษ ที่ 59/2566 ซึ่งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์และ DSI ร่วมกันเปิดสำรวจตู้สินค้าตกค้างทั้งหมด 161 ตู้ แล้วเสร็จ และมีความเห็นร่วมกันในการนำของกลางสินค้าประเภทสุกรแช่แข็งทั้ง 161 ตู้ ไปทำลายตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดย DSI รับผิดชอบควบคุมการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าไปทำลายตามสถานที่ที่กรมปศุสัตว์ได้จัดเตรียมไว้