‘เศรษฐา’มอบ 5 แนวทางทำงบฯ67 3.48 ล้านล้าน ตั้งเป้า GDP โต5%
"เศรษฐา" มอบนโยบายจัดทำงบฯ 67 วงเงิน 3.48 ล้านล้าน ตั้งเป้าจีดีพีโต 5% รวมเงินดิจิทัลที่จะทำแน่ 5.6 แสนล้าน หวังประเทศไทยฟื้นตัวและเศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อยๆจนถึงประเทศรายได้สูง มอบ 5 นโยบายขับเคลื่อนการทำงบประมาณ เน้นคุ้มค่า เงินถึงมือประชาชน ไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
วันนี้ (2 ตุลาคม2566) ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่าการจัดทำงบประมาณในปีนี้แม่ว่าจะมีความล่าช้าแต่ว่าถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยในปีนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ 3.48 ล้านล้านบาท รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้การเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศดีขึ้น จีดีพีขยายตัว 5% ตลอด 4 ปี และทำให้รายได้ขั้นต่ำของประชาชนถึง 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี เดือนละ 25,000 บาท จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในปี 2570 ซึ่งการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
นายเศรษฐายังระบุว่า ในปีงบประมาณ 2567 การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และตั้งใจว่า จะบริหารการคลังด้วยความรอบคอบ โปร่งใส และตรวจสอบได้ พร้อมทั้งจะรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ส่วนการดำเนินนโยบายเรื่องเงินดิจิทัลในส่วนการดำเนินการ ล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยจะมีการขับเคลื่อนต่อในเรื่องการจัดทำแอปพลิเคชัน การเตรียมแหล่งเงิน และการเตรียมความพร้อมเรื่องของกฎระเบียบ โดยรัฐบาลยืนยันว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะใช้ได้แน่นอนภายในเดือนก.พ.2567
สำหรับการวางแผนการใช้งบประมาณภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 รัฐบาลขอวางกรอบให้ความสำคัญกับการดำเนินการในเรื่องสำคัญ 5 ข้อ ดังนี้
1.ขอให้จัดทำงบและการใช้จ่ายงบประมาณตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา และคำนึงถึงกรอบวินัยการเงินการคลัง ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาว่าอะไรที่ทำได้ก็ขอให้ทำไปก่อน แต่อย่าลืมเรื่องความถูกต้องตามกระบวนการ
2.ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกัน วางแผนงบประมาณไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน โดยหลายโครงการในอดีตที่ซับซ้อนกับขอให้เกิดภาพแบบนี้ขึ้นอีกภายในรัฐบาลนี้
3.ขอให้วางแผนและจัดทำงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ และคำนึงถึงวินัยทางการเงินการคลัง โดยการทำแผนงานหรือโครงการขอให้ทำตามความจำเป็นเร่งด่วน และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน นโยบายใดหรือแผนงานใดที่ทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณก็ให้ทำทันที
รวมทั้งขอให้ทำงานเป็นแบบฐานศูนย์ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน โดยให้ทุกหน่วยงานนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิผล และความโปร่งใสในการทำงาน ทำให้ประชาชนเห็นว่าการนำภาษีของประชาชนมาใช้อย่างคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์
4.โครงการต่าง ๆ จะต้องมีตัวชี้วัดและมีเป้าหมายที่ก่อให้เกิดผลดีต่อประชาชน หรือเกิดผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลไม่สนับสนุนการทำโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดผลให้กับประเทศ ประชาชน เพราะจะกลายเป็นการนำภาษีของประชาชนไปละลายแม่น้ำเสียเปล่า รวมทั้งไม่สนับสนุนการนำงบประมาณไปทำโครงการที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีจุดประสงค์อย่างละเอียด จับต้องได้ชัดเจน
ทั้งนี้รัฐบาลขอให้ทุกหน่วยงานได้กลับไปทบทวนการพิจารณาลดแผนงาน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป หรือถ้าเป้นไปได้ก็ขอให้ยกเลิกแผนงาน หรือโครงการที่ไม่มีความชัดเจนทันที เพื่อให้การใช้งบประมาณตรงเป้าหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
อย่าลืมว่ารัฐจะเก็บภาษีมาลงทุนต่อยอดให้ทุกคนได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชนมีคุณภาพที่ดี ดังนั้นจึงขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันดูแลประชาชนให้มีชีวิตอย่างมีความสุข มีสวัสดิการที่เหมาะสม ทำให้เขาเลี้ยงชีพได้อย่างสมศักดิ์ศรี หลาย ๆ อย่างที่ทำไว้ดีแล้วก็ขอให้ทำต่อไป ขอให้เปิดใจรับฟังเสียงของประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุง ขอให้ผู้บริหารหน่วยงานราชการทำงานอย่างขะมักเขม้น แต่แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เน้นผลลัพธ์ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน มากกว่าการทำแค่ตามกระบวนการ และขอให้ยึดโยงกับประชาชนเสมอ
5.ขอให้จัดทำแผนการใช้จ่าย โดยให้พิจารณาการใช้จ่ายเงินในโครงการต่าง ๆ ให้ครบทุกแหล่งเงินทุน ทั้งเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณ โดยหลายหน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณ ทั้งรายได้ หรือเงินสะสม ก็ขอให้พิจารณานำมาใช้ดำเนินการตามภารกิจก่อน และขอให้ช่วยลดภาระงบประมาณของประเทศ โดยพิจารณาการใช้แหล่งเงินแหล่งอื่น ๆ เช่น การร่วมมือกับภาคเอกชน หรือการใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น
“การใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 จะล่าช้า แต่ขออให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย มีความระมัดระวัง อย่าให้เศรษฐกิจสะดุด ดังนั้นในการทำงบประมาณปี 2567 ขอให้พิจารณาความสำคัญใทั้ง 5 ข้อ ทำตามนโยบายของรัฐบาล ทำอย่างบูรณาการลดความซ้ำซ้อน อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง เงินทุน โดยต้องจัดส่งรายละเอียดให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ต่อไป”