ธนาคารโลกชี้ 3 เทรนด์โลก เป็นทั้งความเสี่ยง และโอกาส

ธนาคารโลกชี้ 3 เทรนด์โลก เป็นทั้งความเสี่ยง และโอกาส

เปิดมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ World Bank ชี้ 3 เทรนด์เศรษฐกิจโลก Climate Change - โลกแบ่งขั้ว - สังคมสูงวัย ชี้ไทยยังมีโอกาส ต้องเร่งปลดล็อกภาคบริการการค้า ดัน FTA ใหม่หนุนไทยสู่ซัพพลายเชนโลก

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวในหัวข้อ “The Risks and Opportunities โอกาสก้าวข้ามความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย 2024” ในงานสัมมนา “Thailand Economic Outlook 2024: Change the Future Today” จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2566 ว่า เศรษฐกิจโลกจะมี 3 เทรนด์ใหญ่ที่เป็นความท้าทาย เรื่องแรกคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สอง.ความตึงเครียดระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) สาม.สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)

ทั้งนี้ ภูมิภาคอาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงที่สุด ซึ่งจะเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วม และภัยแล้ง ที่จะทวีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างในปี 2011 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ได้สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยคิดเป็น 11% ของจีดีพี

สำหรับความสนใจหลักเรื่องภูมิรัฐศาสตร์จะอยู่ที่โลกแบ่งขั้ว (Decoupling) ระหว่างสหรัฐ และจีนที่เป็นยักษ์ใหญ่ 2 ตลาด ซึ่งโจทย์สำคัญของภูมิภาคอาเซียน และไทยเองคือ จะอยู่ร่วมกับทั้งสองขั้วอำนาจนี้อย่างไร

“รายงานของธนาคารโลกมีตัวเลขที่น่าสนใจ เรื่องการส่งออกจากอาเซียนไปยังตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้นในบางหมวด โดยไทยส่งออกอยู่ที่อันดับ 3-4 ส่วนใหญ่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การส่งออกจากอาเซียนไปจีนนั้นจะพบว่า มาเลเซีย และอินโดนีเซียได้ประโยชน์จากการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนไทยกลับไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากไทยยังไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าในการส่งออกเข้าไปในจีน”

ดังนั้นจึงต้องมองภาพใหญ่ในระยะยาวที่น่ากังวลว่าสงครามการค้า (Trade War) จะทำให้ระดับการค้าขายโดยรวมลดลงหรือไม่ แม้ในระยะสั้นอาจจะเห็นภาพบวกของบางหมวดหมู่สินค้า จากที่เห็นว่าสหรัฐจะมีการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ Inflation Reduction Act และ Chips Act ซึ่งจะให้การสนับสนุนในด้านการผลิตภายในประเทศมากขึ้น (Local Content)

ขณะที่ในมิติด้านความรู้ การร่วมมือการทำวิจัย และจดสิทธิบัตรร่วมกันระหว่างสหรัฐ และจีนมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด และชัดเจนยิ่งขึ้นหลังมีการบังคับใช้ Chips Act

แต่สำหรับไทยกลับพบว่ามีความร่วมมือกับจีนมากขึ้น ซึ่งนี่สะท้อนให้เห็นว่าแนวทางที่เราจะเดินไปข้างหน้าได้ จะต้องพึ่งความร่วมมือทางความรู้ และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในภาคการบริการที่ไทยมีศักยภาพสูง และขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตำแหน่งประเทศไทย ในห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Supply Chain) ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าการผลิตของไทยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ยังคงเป็นการใช้แรงงานเพื่อการประกอบ (Labor Assembly) เนื่องจากมีอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้ก้าวข้ามไปไม่ได้

ขณะที่ความเสี่ยงเรื่องสังคมสูงวัย น่ากังวลว่าจะเกิดความยากจนมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงคนวัยทำงานที่จะปรับตัวยากขึ้น

ธนาคารโลกชี้ 3 เทรนด์โลก เป็นทั้งความเสี่ยง และโอกาส

ทั้งนี้ สามประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น มองว่าเป็นได้ทั้งความเสี่ยง และโอกาส ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นกับทุกคน แต่อยู่ที่ว่าจะมีการรับมือ และปรับตัวอยู่กับมันได้มากเพียงใด อย่างไรก็ดีไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถต่อยอดเพื่อรับมือได้ รวมทั้งข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์

“หากประเมินภาพเศรษฐกิจมหภาคของไทยยังค่อนข้างดี เรา (ประเทศไทย) ไม่ใช่นักวิ่งที่ป่วย แต่เราเคยบาดเจ็บ และมีความกลัว ทั้งที่จริงเราวิ่งได้เร็วกว่านี้ หลายอย่างเป็นข้อจำกัดที่เราสร้างขึ้นเอง ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการกำหนดนโยบายใหม่”

โดยเฉพาะภาคการค้า และการบริการที่ควรต้องเร่งวางตำแหน่งของประเทศไทย ในการเชื่อมโยงระหว่างจีนและสหรัฐ รวมทั้งการผลักดันการเปิดเขตการค้าเสรี  FTA ที่เน้นเรื่องมาตรฐาน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์