“อาหาร”ดันเงินเฟ้อหลายประเทศทรงตัวสูง ไทยเผชิญผักเเพง ต้นทุนพลังงานเพิ่ม

“อาหาร”ดันเงินเฟ้อหลายประเทศทรงตัวสูง ไทยเผชิญผักเเพง ต้นทุนพลังงานเพิ่ม

ผลการจัดอันดั้บอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนส.ค. 2566 ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 จาก 133 เขตเศรษฐกิจ(ประเทศ) : ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ย. 2566 โดยเวบไซด์ tradingeconomics โดยอัตราเงินเฟ้อในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับที่สูง เช่น สหรัฐ สูงขึ้น 3.7%

 สาเหตุสำคัญมาจาก ราคาอาหารตามอุปทานที่ค่อนข้าดึงตัวและภาคบริการที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ราคาพลังงานลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน แต่มีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา  โดยการปรับขึ้นราคาของสินค้าสำคัญ เช่น หมวดอาหาร  ได้แก่ ธัญพืชและเบเกอรี อาหารทานนอกบ้าน หมวดไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เช่น การขนส่งสาธารณะ ค่าเช่าบ้าน  

ขณะที่ประเทศไทย เงินเฟ้อ ส.ค. 2566 สูงขึ้น  0.88% สาเหตุสำคัญมาจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว ส่วนเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหารราคาลดลง ประกอบกับฐานราคาในเดือนเดียวกันปีก่อนอยู่ในระดับสูง จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่สูงมากนัก 

รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน ระบุว่า สถานการณ์ราคาขายปลีกสินค้าอาหารสดทรงตัว โดยกลุ่มที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ สุกรชำแหละเนื้อแดง (สะโพก) ไข่ไก่ ไก่สดชำแหละ  อย่างไรก็ตาม พบว่าสินค้ากลุ่มผักสดมีราคาสูงขึ้นมาก โดย ผักคะน้า กก.ละ 42.50 บาท สูงขึ้นจาก 28.50 บาท ผักบุ้งจีน กก.ละ32.50 บาท สูงขึ้นจาก 27.50 บาท  ผักชี กก.ละ 160 บาท สูงขึ้นจาก 148 บาท 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์กำหนดแถลงข่าวดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือนก.ย. 2566 วันนี้ (5  ต.ค. 2566) คาดว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนก.ย. 2566 มีทิศทางทรงตัวหรือปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัย ที่ส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่า ปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ปริมาณพืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารและ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องสูงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ชะลอตัว และการใช้ มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์และการลงทุนภายในประเทศ รวมทั้งฐานการคำนวณในเดือนก.ย.2565 ที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อทรงตัวและเพิ่มขึ้นไม่มาก 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่เกิดจากมาตรการของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในระยะอันใกล้ และส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพ และการลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ (ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป  “อาหาร”ดันเงินเฟ้อหลายประเทศทรงตัวสูง ไทยเผชิญผักเเพง ต้นทุนพลังงานเพิ่ม

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0 – 2.0% (ค่ากลาง 1.5%) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

จากภาพรวมราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้นในฝากของผู้บริโภคได้รับผลกระทบในระดับที่สะท้อนผ่านเงินเฟ้อ แต่ในฝั่งผู้ผลิตพบว่ายังมีเงื่อนไขที่ต้องจัดการกับต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ว่า ได้หารือถึงปัญหาต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ที่ปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาอาหารสัตว์ที่เป็นสัดส่วนต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ ถึง 70% ซึ่งเป็นผลมาจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับราคาเพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาอาหารไก่ไข่ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 17 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เทียบกับปี 2563 อยู่ที่ราคา 10 บาทต่อกก.รวมทั้งการเลี้ยงไก่ไข่ยังได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯจะหารือกับภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ให้ช่วยดูแลปัญหาดังกล่าว รวมทั้งปรับสมดุลระหว่างผลผลิตและราคา เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้

 “ขณะนี้ ราคาน้ำ ราคาข้าวสาลี และข้าวโพดต่างลดลงมาแล้ว แต่ราคาอาหารสัตว์ซึ่ง คิดเป็นต้นทุนมากกว่า 70% ของการเลี้ยงไก่ไข่ ยังไม่มีท่าทีที่จะลดลง”

มงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีความลำบาก เพราะขายไข่ขาดทุน เพิ่งจะดีขึ้นในช่วง 3-4 ปีนี้ ที่ราคาเพิ่มขึ้น มีส่วนต่างจากต้นทุนบ้าง โดยขณะนี้ราคาประกาศอยู่ที่ฟองละ 4.0 บาท แต่ราคาขายส่งอยู่ที่ฟองละ 3.90 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตไข่ไก่อยู่ที่ฟองละ 3.70 บาท

     สถานการณ์ราคาสินค้า มีผลต่อเงินในกระเป๋าประชาชน ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น หากราคาสินค้ายังสูงอย่างต่อเนื่องก็จะมีผลให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหายไปจนทำให้จีดีพอาจไม่เติบโตเท่าที่ควร การดูแลสมดุลราคาสินค้าเพื่อผู้บริโภค และผู้ผลิตอย่างเหมาะสมจะเป็นการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจที่ดีในระยะยาว