กู้มาแจก ‘เงินดิจิทัล‘ เสี่ยงกระทบการคลัง ลามเชื่อมั่นลงทุน
รัฐบาลกำลังเผชิญกระแสต่อต้าน”นโยบายแจกเงินดิจิทัล”จากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเหล่านักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ ถึงขั้นลงชื่อเพื่อคัดค้าน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่ รัฐบาลกำลังสาละวนอยู่กับการควานหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดังกล่าว
กระแสไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาลเพื่อไทยกำลังขยายในวงกว้างมากขึ้น โดยนอกจากตัวแทนพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามที่ออกมาโจมตีนโยบายนี้แล้ว ครั้งนี้ ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นักเศรษฐศาสตร์ 99 คน จากทั่วสารทิศของประเทศจะออกมาลงชื่อคัดค้านนโยบายนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุผลรวมๆว่า เป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ฐานะการคลังมีข้อจำกัด หากเดินหน้านโยบายนี้ ที่สุดแล้วจะกระทบต่อฐานะการคลังและลามไปถึงความเชื่อมั่นนักลงทุนในระยะยาว
ฉะนั้น จึงเป็นที่จับตาว่า รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยจะฉุกคิดหันมายกเลิกนโยบายนี้ หรือ เดินหน้านโยบายนี้ต่อ เหตุเพราะเป็นนโยบายชูโรงในการหาเสียงและได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้ว แบบว่า “เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้” หรือไม่
เหตุที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมั่นใจว่า นโยบายแจกเงินดังกล่าว จะไม่กระทบต่อฐานะการคลังของประเทศ ก็เพราะว่า ที่ผ่านมา ไม่ว่า พรรคเพื่อไทยจะดำเนินนโยบายใดๆ ก็ไม่กระทบให้ระดับหนี้สาธารณะสูงเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลัง อาทิ นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด นโยบายรถคันแรก ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งใช้เม็ดเงินไปหลายแสนล้านบาท ก็ไม่ได้ทำให้ระดับหนี้สาธารณะพุ่งเกินกว่า 60% ต่อจีดีพี
แต่เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนั้น ไม่ได้ผันผวนเท่านี้ ปัจจุบันปัจจัยแวดล้อมที่เข้ากระทบต่อเศรษฐกิจเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะระยะ 2-3 ปี ที่ผ่านมา เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อนำมาดูแลเศรษฐกิจสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะต้องขยายกรอบออกไปถึง 70%
ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะอยู่ในระดับ 61% สูงเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่เคยใช้มาแล้ว นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังผันผวนสูงจากสงครามยูเครน แถมด้วยการแบ่งขั้วการเมืองของประเทศยักษ์ใหญ่ เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นๆรวมถึง ไทย
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นว่า เม็ดเงินราว 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ยังไม่สรุปได้ว่า จะหาแหล่งเงินจากที่ใด จะเข้าไปหมุนเศรษฐกิจได้ถึง 4 รอบ หรือ ราว 2 ล้านล้านบาท ช่วยเพิ่มการจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มและนิติบุคคลได้อีกราว 1 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 67
ขณะที่ นายกรัฐมนตรีบอกว่า นโยบายนี้ จะสร้างพายุทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่า จะตุ้นให้การผลิตและการบริโภคในประเทศเกิดขึ้นได้มาก เปรียบเสมือนกันช็อกหรือปั๊มเศรษฐกิจไทย โดยปี 67 จีดีพีจะขยายได้ถึง 5% และในระยะ 4 ปี เศรษฐกิจไทยจะโตเฉลี่ย 5% เมื่อเศรษฐกิจโต รายได้รัฐบาลก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า การแจกเงินครั้งนี้ จะช่วยหมุนเศรษฐกิจได้ไม่ถึง 1 รอบด้วยซ้ำ
ขณะที่ ฐานะการคลังของรัฐบาลที่กำลังแย่ลง ถือเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อการเดินนโยบายที่ไม่คิดหน้าคิดหลัง โดยภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 13% ต่อจีดีพี ถือว่า ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาที่ควรจะจัดเก็บได้ 16-18% ต่อจีดีพี หากจัดเก็บได้ต่ำกว่านี้ จะกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว
เหตุที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพหรือไม่เคยขยายตัวได้เกินกว่า 4% ในระยะหลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่ โครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของประเทศก็ไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะฐานภาษีหลัก ทั้งบุคคลธรรมดาที่อยู่ในหลัก 10 ล้านคนมาอย่างต่อเนื่อง (จัดเก็บได้จริงแค่ 3-4 ล้านคน) อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มยังคงในระดับ 7% จากเพดาน 10% รวมถึง ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้จากบริษัทห้างร้านก็ไม่ได้ปรับเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ รายการลดหย่อนภาษีกลับเพิ่มขึ้นจากนโยบายของหลายรัฐบาล
นักเศรษฐศาสตร์จึงเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรแจกเงินอย่างพร่ำเพรื่อ ควรใช้เงินหรือใช้นโยบายที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มที่มีปัญหามากกว่า ขณะเดียวกัน ภายใต้นโยบายรัฐบาลชุดนี้ ยังไม่เห็นภาพหรือแนวทางการจัดเก็บรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นจากส่วนใด
ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังเผชิญปัญหาภาระรายจ่ายที่ตัดทอนได้ยาก โดยเฉพาะรายจ่ายที่เป็นสวัสดิการเพื่อผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ โดยกลุ่มดังกล่าวมียอดสูงกว่า 11 ล้านคน และจะทยอยเพิ่มขึ้นจากภาวะสังคมสูงวัย กระทบต่อภาระและความเสี่ยงทางการคลัง ซึ่งสวนทางกับการจัดเก็บรายได้ที่อยู่ในระดับ 14% ของจีดีพี ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจัดเก็บได้ 16-17%ของจีดีพี ดังนั้น ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังจึงพยายามหาแนวทางที่จะลดภาระรายจ่ายดังกล่าว
นักเศรษฐศาสตร์ยังชี้ด้วยว่า ต้นทุนที่สำคัญที่สุดในวันที่เรามีทรัพยากรจำกัด คือ “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” เพราะถ้าเราเอาเงินมาเผาทิ้ง เราจะเอาเงินจากไหนมาจ่ายภาระและเอาไปลงทุนเพื่ออนาคต ท้ายที่สุด จะไม่กระทบแค่ต้นทุนทางการคลัง แต่ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย