นายกฯเร่งแผนรับมือน้ำ ฟื้นความเชื่อมั่นลงทุน “อีอีซี”
สถานการณ์เอลนีโญส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนลดลงในปี 2566-2567 รวมทั้งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำ
โดยในวันที่ 9 ต.ค.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นประธานการประชุมเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีหน่วยงานด้านน้ำ รวมถึงภาคเอกชนเข้าร่วม เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร
ในช่วงที่ผ่านมา นายเศรษฐา ระบุว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการดำเนินงานในทุกมิติเพื่อทำงานแบบบูรณาการน้ำ โดยน้ำภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญ เพราะรัฐบาลกำลังเชิญชวนบริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุน ซึ่งหลายอุตสาหกรรมต้องการใช้น้ำมาก เช่น อิเล็กทรอนิกส์
“รัฐบาลต้องให้ความมั่นใจและให้บริษัทต่างชาติมีความมั่นใจเรื่องน้ำ และหากทำให้มั่นใจไม่ได้จะมีปัญหาในการดึงดูดนักลงทุน รัฐบาลยืนยันแล้วต้องทำให้ได้ เวลาผมเดินทางไปต่างประเทศไปคุยไปติดต่อกับบริษัทขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ Google เทสลา หรือบริษัทอื่นๆ ที่จะมีการลงทุนนับล้านล้านบาท ที่ต้องการให้เข้ามาลงทุน และยกระดับอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้จีดีพีเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร กล่าวว่า ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมต้องการให้ภาครัฐมีแผนบริหารจัดการน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยถ้ามีการเตรียมแผนงานที่ดีเชื่อว่าจะรับมือกับสถานการณ์น้ำในช่วงเอลนีโญได้ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว
“ปีนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเพราะยังมีปริมาณน้ำในอ่าง แต่ในปีหน้าจะมีปัญหาเพราะหน้าฝนปีนี้กักเก็บน้ำได้ไม่มาก”
รวมทั้งผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมไม่ต้องการให้ภาครัฐแก้ปัญหาด้วยการประกาศให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประหยัดน้ำในช่วงหน้าแล้ง เพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของบริษัทที่กำลังจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย ดังนั้นการมีคำเตือนดังกล่าวจึงไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นการลงทุน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมมีข้อเสนอให้ภาครัฐมีการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใน จ.จันทบุรี มาเติมอ่างเก็บน้ำในอีอีซีผ่านระบบชลประทาน ซึ่งเป็นการบริหารน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ภาคบริการ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมและการรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งจะเป็นการรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจอีอีซี
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2566 นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงแผนการบริหารจัดการน้ำ ที่มีปัญหาซ้ำซ้อนทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีมีความต้องการใช้น้ำปริมาณมากจากทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม รวมทั้งแผนการรับมือกับเอลนีโญ่ที่จะรุนแรงขึ้นในเดือนเม.ย.2567
“ปัจจุบันผู้ประกอบการรวมทั้งนักลงทุนต่างชาติได้แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากในพื้นที่มาบตาพุด อาทิ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี”
ทั้งนี้ แผนการรับมือของ ส.อ.ท.ในกรณีเกิดภัยแล้ง 2-3 ปีก่อน ได้รณรงค์ให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ลดกำลังการผลิตลง 10% รวมทั้งมีแผนการผันน้ำจากจังหวัดจันทบุรี อย่างไรก็ตามแผนการเหล่านี้เป็นเพียงแผนระยะสั้น ขณะที่สถานการณ์แล้งจากภาวะเอลนีโญ่จะไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแต่จะทำให้ฝนทิ้งช่วงและตกน้อยลงเป็นระยะเวลายาวนาน
ดังนั้นจึงต้องเร่งวางแผนการเพื่อบริหารจัดการน้ำในระยะยาว อาทิ หาแหล่งเก็บน้ำใหม่ ลดการสูญเสียน้ำในอ่าง หาน้ำมาเติม รวมทั้งพัฒนาท่อส่งน้ำเพิ่ม
ทั้งนี้ สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.ได้สำรวจและเก็บข้อมูลความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีตั้งแต่ปี2564 โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวในการจัดทำคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติในการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวต่อไป
“ปัจจุบันผู้ประกอบการรวมทั้งนักลงทุนต่างชาติได้แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากในพื้นที่มาบตาพุด อาทิ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี”
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำแล้งในพื้นที่อีอีซี ว่าภายในปีนี้ยังคงมีฝนตกลงมาเติมในอ่างเก็บน้ำ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นมาจากเกณฑ์น่ากังวล อย่างไรก็ตามจากสถิติปริมาณน้ำในอ่างทั้ง 6 แห่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่
อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำประแสร์ พบว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ กนอ. มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำ 4 โครงการ ได้แก่
1.สูบน้ำสระพักน้ำดิบ ความจุ 1.6 ล้าน ลบ.ม.
2.สูบน้ำจากคลองน้ำหู ทับมา ปริมาณน้ำสูงสุดวันละ 30,000 ลบ.ม.
3.ผลิตน้ำรีไซเคิลคลองซากหมาก ปริมาณน้ำสูงสุดวันละ 5,000 ลบ.ม.
4.รับน้ำเอกชนเพื่อลดการใช้น้ำในอ่างหลักของกรมชลประทานปริมาณน้ำวันนะ 125,000 ลบ.ม.
นอกจากนี้ กนอ.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Desalination Plant) ปริมาณวันละ 200,000 ลบ.ม. ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจรวมทั้งเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว