หอการค้าไทย ชี้ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ไม่กระเทือนไทยทั้งส่งออก-ท่องเที่ยว

หอการค้าไทย ชี้ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ไม่กระเทือนไทยทั้งส่งออก-ท่องเที่ยว

หอการค้าไทย ประเมินสงครามอิสราเอล- ฮามาส ยังไม่กระทบเศรษฐกิจไทย ห่วงแรงงาน หวังหาทางยุติได้ ด้าน”ธนวรรธน์”ชี้ สถานการณ์สงครามกระทบราคาน้ำมันโลกปรับขึ้น 4 % คาดสงครามไม่น่ายืดเยื้อ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าหอการค้าไทย ขอแสดงเสียใจและห่วงใยต่อทั้งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส โดยเฉพาะคนไทยที่ได้รับผลกระทบ 

ในส่วนของผลกระทบด้านเศรษฐกิจเบื้องต้นคาดว่าผลกระทบยังไม่มาก ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศไทยกับอิสราเอลมีการค้ากันน้อยที่ประมาณ 856.84 ล้านดอลลาร์ (ม.ค-ส.ค.66) ซึ่งทั้งปีคาดว่าอยู่ประมาณ 40,000 ล้านบาท ประมาณ 0.2-0.3% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก แต่ปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานเยอะถึงประมาณ 30,000 คน ซึ่งรัฐบาลไทยได้เตรียมอพยพคนไทยไว้แล้ว ซึ่งหวังว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถเจรจาเพื่อหาแนวทางแก้ไขและหาทางออกร่วมกันอย่างสันติได้

อย่างไรก็ตาม ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด รวมถึงบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น หากผู้ประกอบการมีการทำการค้ากับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ต้องมีความระมัดระวังเพราะอาจจะมีผลกระทบเพิ่มเติมหากมีการขยายวงกว้างขึ้น สำหรับความขัดแย้งครั้งนี้

หอการค้าไทย ชี้ สงครามอิสราเอล-ฮามาส ไม่กระเทือนไทยทั้งส่งออก-ท่องเที่ยว

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าววว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสนั้น มีมายาวนานกว่า 50 ปีแล้ว โดยระยะหลังไม่เคยเห็นมีกองกำลังชาติที่ 3 เข้ามาร่วมในปฏิบัติการความขัดแย้งระหว่างทั้ง 2 ประเทศ สถิติดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งเป็นเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ยังไม่เห็นท่าทีว่าจะมีสงครามบานปลายไปในตะวันออกกลางรวม

แต่สิ่งที่มีผลต่อไทยคือ ความเดือดร้อนของแรงงานที่อยู่ในประเทศนั้น ทั้งการบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือรายได้จากการทำงานที่จะไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบทางตรง แต่เชื่อว่ารัฐบาลไทยและกระทรวงต่างประเทศ จะดูแลจัดการได้ รวมถึงทางการอิสราเอลก็จะดูแลความปลอดภัยมากขึ้น เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว แต่ขณะนี้อิสราเอลน่าจะตั้งหลักได้แล้ว

 

สำหรับผลกระทบในด้านการค้าและบริการ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์ การค้าของไทยและอิสราเอล คิดเป็น 0.2% อยู่อันดับที่ 40 ของคู่ค้าไทย ไม่ได้เป็นตลาดใหญ่ในการส่งออกของไทย มีมูลค่าประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เทียบกับการนำเข้าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ หรือ 1 หมื่นล้านบาท เทียบเท่า 1 เดือนในการส่งออกของไทยที่มีมูลค่าประมาณ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น

จากการประเมินสถานการณ์จนถึงขณะนี้ เส้นทางการขนส่งยังไม่ได้รับผลกระทบ และอาจจะมีความต้องสินค้าบางอย่างมากขึ้นในช่วงที่เกิดสถานการณ์ ดังนั้น การส่งออกหรือนำเข้าไม่ควรจะได้รับผลกระทบมากนัก เพราะยังไม่มีสัญญาณการปิดประเทศ หรือเส้นทางขนส่งถูกตัดขาด จนไม่สามารถเดินทางได้ ทำให้ในแง่ของกระแสเงินไหลเข้าและออก ไม่ควรมีปัญหาอุปสรรคมาก ภายใต้เงื่อนไขของสถานการณ์นี้ไม่ยืดเยื้อบานปลายเหมือนสงครามรัสเซียและยูเครน

ในแง่การท่องเที่ยว มีชาวอิสราเอลเข้ามาเที่ยวไทยประมาณ 2 แสนคน ซึ่งจำนวน 2 แสนคนต่อปีถือว่าไม่มากนัก หากเหตุการณ์นี้จบเร็ว จำนวนนักท่องเที่ยวรายเดือนประมาณ 1-2 หมื่นคนต่อเดือนก็ไม่น่าจะกระเทือนมากนัก โดยประเมินการใช้จ่ายต่อคนอยู่ที่ 4.2 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป มูลค่าก็ไม่น่าสูงมาก ทำให้ผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงคงไม่กระเทือนรุนแรง ไม่น่ามีผลต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะหากสมมุติฐานการหายไปของการส่งออกและท่องเที่ยวที่อยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.2-0.3% เท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นความเสียหายทั้งหมดแน่นอน เป็นเพียงความเสียหายระยะสั้นที่มีความไม่แน่นอน ผลกระทบจึงไม่คาดว่าจะรุนแรง

ผลกระทบทางอ้อมเป็นการดันให้ราคาน้ำมันโลกปรับขึ้นไปประมาณ 4% และอาจปรับขึ้นได้อีกหากมีเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนมากขึ้น จึงอาจมีผลต่อราคาน้ำมันในประเทศไทยบ้าง ทำให้ราคาน้ำมันขึ้นมา แต่ไม่ควรปรับขึ้นทะลุ 1-2 บาทต่อลิตรไปไกลมากนัก และควรเป็นระยะสั้นเท่านั้น ทำให้ผลกระทบในทางอ้อมก็คงไม่ได้มากนักเช่นกัน ประเมินความยืดเยื้อยาวนาน มองในอดีตที่ผ่านมา สงครามระหว่าง 2 ประเทศนั้น ไม่เคยมีบุคคลที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่น่ามีความรุนแรงบานปลายจนทำให้เกิดสงครามในตะวันออกกลาง และมีประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย” นายธนวรรธน์ กล่าว