กขค.กางแผนปี 67 ลุยกำกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
กขค.เปิดนโยบายทำงานปี 67 เดินหน้าทบทวนกฎระเบียบ รองรับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ป้องกันการผูกขาด การจำกัดการแข่งขัน กำกับดูแลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท เข้มควบรวมกิจการหลังปี 62-66 มีมูลค่ากว่า 4.27 ล้านล้าน โชว์ผลงานปี 66 รับเรื่องร้องเรียน 46 เรื่อง
นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยถึงทิศทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ปี พ.ศ. 2566 - พ.ศ. 2567 ว่า จะมุ่งเน้นนโยบายการกำกับดูแลโครงสร้างตลาด และพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจ E-Commerce ในประเทศไทย การกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจ M&A หรือ Merger and Acquisition การส่งเสริมสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้าเพื่อให้ SMEs สามารถแข่งขันได้ การปรับปรุงกฎหมายและแนวปฏิบัติทางการค้าให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการพัฒนาการกำกับการแข่งขันทางการค้าเชิงรุกด้านการป้องกัน (Ex-ante approach) โดยกำหนดพฤติกรรมที่ห้ามกระทำ
ปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผ่านอีคอมเมิร์ซ อีเซอร์วิส และอีโลจิสติกส์ โดยเฉพาะธุรกิจแพลตฟอร์มที่ทำธุรกิจในไทยและมีการขยายตัวสูง เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า ไลน์ช้อปปิ้ง วีมอลล์ ติ๊กต็อก และอื่นๆ ทำให้ต่อปีมีมูลค่าการตลาดถึง 1 แสนล้านบาท โดยมาพร้อมกับการจำกัดการแข่งขัน และมีการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม
ยังมีแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่ไม่ได้ทำธุรกิจในไทย แต่คนไทยใช้ เช่น อเมซอน อีเบย์ อาลีเอ็กซ์เพรส ต้องดูว่าจะกำกับดูแลอย่างไร ซึ่งกขค.จะมุ่งจัดทำนโยบายกำกับดูแลโครงสร้างตลาดและพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยจะให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล จึงกำลังศึกษากฎหมายของต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ที่มีกฎหมายดิจิทัล มาร์เก็ต เพื่อนำมาปรับใช้ในการจัดทำไกด์ไลน์ เพื่อวางระบบป้องกัน กำหนดได้ข้อสรุปปลายปี 2566 และออกไกด์ไลน์ต้นปี 2567
สำหรับพฤติกรรมของแพลตฟอร์มที่มีการร้องเรียนเข้ามา เช่น เก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการไม่เป็นธรรม กำหนดราคาขายสินค้าและบริการไม่เป็นธรรม บังคับให้ใช้บริการขนส่งสินค้าที่ไม่เป็นธรรมแทนที่ให้ผู้ขายเลือกเองต้องใช้ของแพลตฟอร์ม การกีดกันหรือเลือกปฏิบัติทางการค้า รวมถึงการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม กรณีการค้นหาสินค้า ดึงให้สินค้าของตัวเอง หรือสินค้าของบริษัทที่จ่ายเงินขึ้นมาก่อน แทนที่จะให้เป็นไปตามระบบซึ่งปัญหาเหล่านี้ จะถูกนำมาใช้ในการทำไกด์ไลน์ เพื่อกำกับดูแล
“ทิศทางการค้าในปัจจุบัน ธุรกิจมีการปรับตัวด้วยการควบรวมกิจการกันเพิ่มขึ้น แม้รายใหญ่ด้วยกัน ทำให้มีแนวโน้มที่เกิดการผูกขาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม จึงต้องเพิ่มกฎระเบียบให้ดูแลธุรกิจรายอื่นมากขึ้น ย้อน 5 ปี 2562-2566 เกิดการควบรวมถึง 4.27 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าการรวมธุรกิจที่มาก และแนวโน้มจะยิ่งมีมากขึ้นไปอีก จึงต้องมีมาตรการที่เข้ามากำกับดูแลดูแลการควบรวมธุรกิจ M&A หรือ Merger and Acquisitionให้เข้มข้นขึ้น
นอกจากนี้ จะหาทางส่งเสริมสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้าเพื่อให้ SMEs สามารถแข่งขันได้ เพราะที่ผ่านมา SMEs มักจะถูกผู้ประกอบการรายใหญ่เอาเปรียบ หรือกีดกัน จะเร่งปรับปรุงกฎหมายและแนวปฏิบัติทางการค้าให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการพัฒนาการกำกับการแข่งขันทางการค้าเชิงรุกด้านการป้องกัน โดยกำหนดพฤติกรรมที่ห้ามกระทำ และเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อให้ธุรกิจรายเล็ก รายกลาง มีความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากกฎหมายได้เพิ่มขึ้น
นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล กรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า กขค.กำลังทบทวนกฎระเบียบและแนวทางการพิจารณา ทั้งในเชิงโครงสร้างในระบบและพฤติกรรมของธุรกิจและผู้บริโภค เพื่อให้กฎระเบียบและแนวปฏิบัติภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเท่าทันกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ต้องการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้เกิดการแข่งขันในตลาดอย่างเสรีและเป็นธรรม
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย กรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า ได้เปิดตัวระบบฝึกอบรมและเรียนรู้ด้านการแข่งขันทางการค้า หรือ TCCT e-Learning โดยมีน้อง"แบ่งปัน" เป็นผู้ช่วยในการเรียน เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและความรู้อื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งหวังให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจประโยชน์ของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างสะดวกทุกที่ทุกเวลา มีหลักสูตรกฎหมายการแข่งขันทางการค้าขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลภายนอก เช่น คำศัพท์เศรษฐศาสตร์ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า หลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม การรวมธุรกิจ เป็นต้น รวมไปถึงหลักสูตรสำหรับบุคลากรภายในของสำนักงาน กขค. เพื่อช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานและการบังคับใช้กฎหมาย
นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการ กขค. กล่าว ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา โดยมีการรับเรื่องร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้นจำนวน 46 เรื่อง ด้านการรวมธุรกิจ สำนักงาน กขค. ได้รับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจ จำนวนรวมทั้งสิ้น 28 เรื่องนอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนที่เข้าข่ายการกระทำความผิดในหลายมาตรา ได้แก่ การใช้อำนาจเหนือตลาดและการตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกัน จำนวน 1 เรื่อง การใช้อำนาจเหนือตลาด การตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกันและไม่ใช่ตลาดเดียวกัน จำนวน 1 เรื่อง การใช้อำนาจเหนือตลาดและการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 2 เรื่อง การใช้อำนาจเหนือตลาด การตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกันและการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 1 เรื่อง การขอคุ้มครองชั่วคราว (มาตรา 60) จำนวน 1 เรื่อง และเรื่องที่ไม่รับเป็นเรื่องร้องเรียน จำนวน 16 เรื่อง ในด้านการลงโทษ มีการกำหนดโทษปรับทางปกครอง จำนวน 25 คำสั่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย