'สุริยะ' ดันตั๋วร่วม ประกาศรถไฟฟ้า 20 บาท เริ่ม 16 ต.ค.นี้
"สุริยะ" สั่ง สนข.เร่งผลักดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เตรียมเสนอเข้า ครม. ประกาศใช้ภายในรัฐบาลนี้ พร้อมจัดตั้งกองทุนกลางสนับสนุนส่วนต่างภาคเอกชน ย้ำรถไฟฟ้าทุกสายต้องใช้จ่ายผ่านบัตรใบเดียว ขณะที่นโยบาย 20 บาทตลอดสาย เริ่ม 16 ต.ค.66 นี้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานวันคล้ายสถาปนาสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยระบุว่า สนข.ทำหน้าที่เป็นคลังสมองให้กับกระทรวงคมนาคม และนโยบายของรัฐบาลต้องการสนับสนุนการเดินทางไร้รอยต่อโจทย์ของ สนข.จึงต้องศึกษาแนวทางสร้างการขนส่งระบบราง รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ การขนส่งทางน้ำ และการขนส่งทางบก จะพัฒนาอย่างไร ให้สามารถเชื่อมต่อกัน รวมถึงลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะที่เป็นธรรม ในราคาเหมาะสม
อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ทราบว่าปัจจุบัน สนข.ศึกษา พ.ร.บ.ตั๋วร่วม แล้วเสร็จ และเตรียมจะเสนอมายังกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอขอความเห็นชอบไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร โดยกระทรวงฯ มีเป้าหมายจะดำเนินการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จ พร้อมออกประกาศใช้ให้ได้ภายในรัฐบาลนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันลดค่าครองชีพการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ประชาชนจะสามารถเดินทางข้ามระบบทุกสายทางรถไฟฟ้าได้
สำหรับความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้นำส่งผลการศึกษาทั้งหมดมายังกระทรวงฯ แล้ว แต่จะยังไม่มีการบรรจุวาระเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันพรุ่งนี้ (10 ต.ค.66) เนื่องจากนายกรัฐมนตรียังติดภารกิจในต่างประเทศ จึงคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า ที่มีกำหนดประชุมวันที่ 16 ต.ค.2566 และเมื่อ ครม.เห็นชอบ นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท จะประกาศใช้ได้ทันทีในช่วงบ่ายวันเดียวกัน แต่จะมีผลใช้เฉพาะการเดินทางในสายเดียว เนื่องจากการเดินทางข้ามสายต้องใช้เวลาติดตั้งซอฟต์แวร์ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ในเดือนพ.ย.นี้
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า นโยบายสำคัญที่รัฐบาลกำชับให้ สนข.เร่งเดินหน้าต่อคือ โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ โดยภายในเดือนต.ค.นี้ จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่ออนุมัติหลักการ หลังจากนั้นกระทรวงฯ จะเริ่มขั้นตอนประชาสัมพันธ์ข้อมูล เพื่อจูงใจนักลงทุน โดยจะทยอยเดินทางไปยังหลายประเทศในยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกา ขณะเดียวกันคาดว่า สนข.จะจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จในต้นปี 2567 จึงคาดว่าในปีหน้าจะสามารถเริ่มขั้นตอนการลงทุน เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมือง และระบบราง (MR-MAP) กระทรวงฯ ยังคงมีนโยบายให้ สนข.เดินหน้าศึกษาต่อ
ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.เตรียมเสนอให้กระทรวงฯ พิจารณา พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน โดยหากผ่านการประชุมนัดนี้แล้ว คาดว่าจะเริ่มขั้นตอนเตรียมเสนอ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เข้าครม.พิจารณา และเดินหน้าตามขั้นตอนสภาฯ ต่อไป ซึ่งการผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ราคาค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะปรับลดลง ประชาชนเข้าถึงได้
"สนข. ต้องเร่งขับเคลื่อน เรื่อง พ.ร.บ. ตั๋วร่วม หากเรามี พ.ร.บ. ตั๋วร่วม การจะขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าแต่ละราย หันมาใช้บัตรโดยสารรูปแบบเดียวกันก็ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้เรามีข้อมูลการเดินทางของพี่น้องประชาชนเพียงพอ ที่จะนำมาทำการวิเคราะห์หาราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้เดินทาง และเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการเดินรถที่ต้องเสียเงินลงทุนไป"
นายปัญญา กล่าวด้วยว่า การศึกษารูปแบบตั๋วร่วม เบื้องต้น สนข.จะพัฒนาให้ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะทั้งหมดติดตั้งระบบหัวอ่านที่รองรับการอ่านบัตรทุกชนิด ไม่เพียงการแตะจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต (EMV) ทำให้ประชาชนสามารถแตะจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตรอะไรก็ได้ อาทิ บัตรประชาชน หรือบัตรรถไฟฟ้า จะต้องสามาถแตะจ่ายได้ทุกระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งการใช้บัตรเพียงใบเดียวในการเดินทางผ่านรถไฟฟ้าหลายสาย การจะคิดค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวก็สามารถดำเนินการได้ ทำให้ประชาชนไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าหลายครั้ง ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของพี่น้องประชาชนลงได้
ทั้งนี้ ภายใต้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม นอกจากจะมีการกำหนดข้อบังคับให้ผู้ประกอบการทุกระบบขนส่ง ต้องติดตั้งหัวอ่านตั๋วร่วมแล้ว จะมีรายละเอียดของการจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อบริหารงานตั๋วร่วม (Clearing House) ทำหน้าที่เป็นส่วนกลางบริหารค่าโดยสาร ส่วนแบ่งรายได้ให้ระบบขนส่งต่างๆ รวมทั้งจะจัดตั้งกองทุนบริหารตั๋วร่วม เพื่อทำหน้าที่ในการนำรายได้ไปชดเชยภาคเอกชนตามสัญญาสัมปทาน หากเกิดกรณีค่าโดยสารได้เป็นไปตามสัญญากำหนด โดยขณะนี้ สนข.ได้หารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง ถึงรูปแบบการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งพบว่าสามารถดำเนินการได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์