โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปวงเงินรวม 5.6 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการเดินหน้าให้เริ่มใช้ได้ในเดือน ก.พ.ปี 2567 เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลตั้งเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้าไว้ที่ 5% อย่างไรก็ตามโครงการนี้ได้รับการคัดค้านและแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลโดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งองค์กรอิสระอย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามโครงการนี้ของรัฐบาลโดยเฉพาะ
น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการนี้ว่าในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด19 ได้เต็มศักยภาพ ขณะที่รายได้ของประชาชนก็เพิ่มขึ้นไม่ทันกับภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 91.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แนวคิดของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลคือเราเติมเงิน และเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนเพื่อที่จะเพิ่มกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
รวมทั้งมองไปถึงการที่จะมีการรวมกลุ่มของประชาชน เกษตรกร ที่ได้รับเงินจำนวนนี้จะนำไปตั้งเป็นร้านค้าชุมชน ตั้งวิสาหกิจชุมชน หรือรวมตัวกันไปซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ซึ่งเงินจำนวนนี้จึงไม่ใช่แค่การแจกเงินให้ไปซื้อของแต่มีกลไกที่รัฐบาลมองว่าจะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในระดับชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยได้ประโยชน์ด้วย
หวังสร้าง Multiplier effect หมุนเศรษฐกิจหลายรอบ
ทั้งนี้เมื่อมีการใช้จ่าย บริโภคเพิ่มขึ้นจากเงินดิจิทัลในส่วนนี้ถือว่าเป็นการสร้างแรงส่งทางเศรษฐกิจให้เกิด Multiplier effect ทำให้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันกำลังการผลิตของไทยในภาคอุตสาหกรรมของไทยอยู่ที่ 60% ถือว่าต่ำกว่าหลายประเทศ ซึ่งเมื่อมีการบริโภคมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มการผลิต การจ้างงาน ทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นทั้งจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนิติบุคคล ซึ่งนอจากทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประชาชนก็จะลดลงด้วย
3 แนวทางหาเงินใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
สำหรับแหล่งเงินที่จะทำมาใช้ในโครงการนี้ น.พ.พรหมินทร์กล่าวย้ำว่ารัฐบาลเน้นย้ำเรื่องการรักษาวินัยการเงิน การคลังของประเทศ โดยรัฐบาลมีทางเลือก 2 – 3 ทาง ซึ่งรัฐบาลอาจจะใช้หลายแนวทางผสมกัน โดยให้คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการแจกเงินเงินดิจิทัลฯไปดูในรายละเอียดและความเหมาะสม ซึ่งนอกจากการรักษาวินัยการเงินการคลัง สิ่งที่รัฐบาลจะต้องดูก็คือการดำเนินโครงการนี้ และการจัดหาแหล่งเงินต้องไม่กระทบกับเครดิตเรทติ้งของประเทศด้วย
ประกอบไปด้วยทางเลือกที่ 1 คือการบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 โดยการปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น รวมทั้งการขอให้เลื่อนโครงการที่เป็นโครงการขนาดใหญ่บางโครงการออกไปทำในปีงบประมาณถัดไป หรือว่าบางโครงการที่ขอซื้ออุปกรณ์ ครุภัณฑ์ขนาดใหญ่ก็ขอให้ชะลอไว้ก่อนแล้วรัฐบาลเติมเงินบำรุงรักษาให้
ทางเลือกที่ 2 คือการใช้เงินนอกงบประมาณ โดยให้หน่วยงานของรัฐออกเงินให้ก่อน โดยการใช้เงินแบบนี้ที่ให้หน่วยงานของรัฐออกเงินไปก่อน ซึ่งรัฐบาลอาจใช้ช่องทางนี้ในการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการ 2 – 3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ยอมรับว่ารัฐบาลต้องขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 โดยในส่วนนี้แม้มีการขยายเพดานหนี้แต่รัฐบาลจะมีแผนในการจัดสรรเงินงบประมาณมาคืนให้กับหน่วยงานที่มีการกู้ยืมเงิน ซึ่งโดยหลักการแล้วหน่วยงานเหล่านี้รัฐบาลถือหุ้นเต็ม100% เท่ากับว่าหนี้ที่รัฐบาลกู้ยืมมาเป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทุกบาททั้ง 100% ที่สำคัญรัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับในการใช้หนี้ทุกปีงบประมาณปีละ 1 แสนล้านบาทซึ่งหากดูจากขนาดของงบประมาณแผ่นดินปีละกว่า 3.3 ล้านล้านบาท มั่นใจว่าสามารถบริหารและใช้คืนเงินกู้ในส่วนนี้ได้อยู่แล้ว
“ในเรื่องนี้มีข้อกังวลเรื่องของผลกระทบต่อเครดิตเรทติ้งของประเทศ แต่รัฐบาลได้คุยกับคนที่ดูในเรื่องเครดิตเรทติ้งแล้วว่าถ้าขยับแบบนี้ แล้วมีแผนใช้คืนหนี้ที่ชัดเจนเรทติ้งของประเทศจะไม่ขยับ ซึ่งรัฐบาลวางแผนว่าหนี้ในส่วนนี้จะใช้คืนทุกปีปีละ 1 แสนล้านบาท และจะใช้หมดในระยะเวลา 3 ปี จะเห็นว่าเรามีทางที่จะหาเงินมาคืนได้แน่นอนเพราะเราบริหารเงินเป็น และไม่ได้ทำให้การคลังของประเทศเสียหาย เหมือนกับเมื่อก่อนที่รัฐบาลทำกองทุนหมู่บ้านแล้วรัฐบาลได้มีการคุยกับธนาคารออมสินในการยืมเงินมาก่อนแล้วรัฐบาลใช้คืนให้”
ส่วนทางเลือกที่ 3 ที่รัฐบาลมีสำหรับการหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการนี้คือการกู้เงินโดยตรง ซึ่งจริงๆสามารถกู้ได้เพราะว่าในขณะนี้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 60% ขณะที่เพดานอยู่ที่ 70% ขณะที่ขนาดของจีดีพีอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลมีช่องที่จะกู้เงินตรงนี้อยู่ 1.7 ล้านล้านบาท แต่ในขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้ดูช่องทางนี้ในการหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการนี้
ต่อภาพนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลหลังทำงาน 29 วัน
น.พ.พรหมินทร์กล่าวด้วยว่าขณะนี้รัฐบาลทำงานมา 29 วัน ยอมรับว่าการทำงานของรัฐบาลนั้นเร็วเกินไป และอาจไม่สามารถอธิบายในรายละเอียดต่างๆได้หมด ซึ่งในเรื่องเศรษฐกิจจำเป็นที่จะต้องอธิบายเชื่อมโยงให้เห็นการทำงานของรัฐบาลในหลายๆส่วนที่ออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกันซึ่งภาพรวมคือการพยายามลดค่าครองชีพประชาชน และเพิ่มรายได้ให้ประเทศ โดยส่วนที่ทำในเรื่องของการลดค่าครองชีพที่ทำไปแล้วคือการลดค่าไฟฟ้าจาก 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย และการลดราคาน้ำมันดีเซลให้ราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งในส่วนนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าไม่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะเดียวกันได้มีมาตรการพักหนี้เกษตรกรซึ่งมาตรการได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1 แสนราย จากเป้าหมาย 2.7 ล้านราย ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะทยอยเข้าโครงการเพิ่มหลังจากนี้
สำหรับการสร้างรายได้ให้กับประเทศนั้นรัฐบาลได้เร่งรัดฟื้นฟูการท่องเที่ยว โดยเร่งออกมาตรการต่างๆเช่นมาตรการวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน การสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคท่องเที่ยว และการลงไปสั่งการเรื่องของการปรับปรุงและพัฒนาสนามบินอันดามันในพื้นที่ภาคใต้เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในอนาคต
ในส่วนของการทำงานของนายกรัฐมนตรีนั้นยังเน้นออกไปเยือนต่างประเทศเพื่อพบกับผู้นำนานาชาติ และดึงการลงทุนของนักธุรกิจระดับโลกเข้าในไทย โดยที่นายกรัฐมนตรีจะไปเยือนจีนในระหว่างวันที่ 16 – 19 ต.ค.นี้ มีกำหนดการที่จะหารือกับนักธุรกิจรายใหญ่ของจีนหลายรายที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งนอกจากการเจรจากับนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลยังมีการเร่งแก้ปัญหาและอุปสรรคให้กับนักลงทุนต่างชาติ
ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุน
โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการด่วนให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาอุปสรรคสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจ (Ease of doing business) ในประเทศไทยได้โดยสะดวก โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมี ศ.พิเศษ ดร.ธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน และมีนายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองประธานกกรรมการ และมีนักกฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะทำงาน เพื่อดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ