เตรียมความพร้อมประเทศไทย สู่ฮับ ‘เอไอ และ เทคโนโลยี’
หน่วยงานภาครัฐพร้อมที่จะผลักดันสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวทันต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีเอไอ เพื่อปูทางสู่การนำไปปรับใช้กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ
หลายปีที่ผ่านมา ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เป็นที่พูดถึงในวงกว้างทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งต่อมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565 - 2570” (Thailand National AI Strategy and Action Plan 2022 - 2027)
ส่งผลให้ดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) ประเมินโดย Oxford Insights ของไทยอยู่ที่อันดับ 31 จาก 181 ประเทศ (อันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย)
ทันทีที่มีแผนปฏิบัติการดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐพร้อมที่จะผลักดันสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวทันต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีเอไอ เพื่อปูทางสู่การนำไปปรับใช้กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในบทความนี้ ผมขอเสนอแนวความคิดเห็นว่าเราควรเตรียมความพร้อมด้านใดบ้างเพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางเอไอและเทคโนโลยีในภูมิภาคอาเซียน
เริ่มต้นจาก การพัฒนาและเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาและประยุกต์ใช้เอไอและเทคโนโลยีอื่น ๆ ภายในประเทศ เช่น ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของเอไอให้รวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ การพัฒนาระบบประมวลผล Cloud Computing รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับเผยแพร่ฐานข้อมูลเพื่อให้องค์กรต่าง ๆ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเอไอของตนเองได้ โดยอาจจัดตั้ง Sandbox เพื่อทดสอบการใช้งานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ควรมีการพิจารณาออกนโยบายจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การเข้าถึง และการนำไปใช้ เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้าใจและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด
อีกด้านหนึ่งคือ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านเทคโนโลยี (Human Capacity) พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสม ทันสมัย ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล และเพิ่มจำนวนผู้สอนให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงาน นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนอาจร่วมกันจัดโครงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะด้านเอไอให้กับบุคลากรสายเทคฯ ที่สนใจจะอัปสกิลทั้งระดับพื้นฐานและเฉพาะทาง
สำหรับการนำไปใช้ในเชิงปฏิบัติ ในส่วนของงานวิจัยเอไอ ภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยสนับสนุนในเชิงนโยบายและงบประมาณให้กับงานวิจัยต่าง ๆ ให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่จะสร้างประโยชน์ให้วงการเอไอได้ในอนาคต
นอกจากน้ี ภาครัฐอาจพิจารณาลงทุนควบคู่กับการออกนโยบายสนับสนุนนักวิจัยและผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและเอไอที่เกิดจากการพัฒนาโดยฝีมือคนไทย (Local AI) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้าถึงความสามารถของเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น
จากแนวโน้มปริมาณความต้องการใช้เทคโนโลยีเอไอที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาคธุรกิจจะได้เริ่มต้นพิจารณานำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในส่วนงานต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการในประเทศ และเป็นการสนับสนุนบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอสัญชาติไทยและบุคลากรด้านเทคโนโลยีคนไทย ให้ได้พัฒนาฝีมือ สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจในไทยให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และด้านสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การประชาสัมพันธ์และการตลาด (PR and Marketing) ให้องค์กรนานาชาติได้เห็นถึงศักยภาพด้านเทคโนโลยีของคนไทย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและนานาชาติได้รับรู้ว่าประเทศไทยเราให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี และมีบุคลากรที่เก่งรอบด้านและร่วมกันพัฒนาเอไอมาอย่างต่อเนื่อง
โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งอาจมีการเชิญตัวแทนจากหลายๆ ประเทศมาร่วมงานประชุมเชิงวิชาการ พร้อมสร้างภาพลักษณ์และสื่อสารให้เห็นถึงศักยภาพขององค์กรและบุคลากรไทย
การเตรียมความพร้อมและแผนการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน การเห็นถึงบทบาทและความสำคัญของเอไอเพื่อเตรียมความพร้อมให้เท่าทันต่อการเข้ามาของเทคโนโลยี และการร่วมมือกันนำไปปรับใช้ในองค์กรของท่านแม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางเอไอและเทคโนโลยีแห่งอาเซียนได้ในอนาคตอย่างแน่นอน