'แผนพลังงาน' ยามสงคราม ใช้กลไก 'กองทุน' ดูแลราคา
“พลังงาน” เตรียมพร้อมรับมือสงคราม “อิสราเอล-ฮามาส” คาดไม่ยืดเยื้อ ยืนยันสำรองน้ำมันเพียงพอถึง 70 วัน พร้อมใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ พยุงราคาลดผลกระทบประชาชน
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังหารือกับหน่วยงานในสังกัด เพื่อรับมือสถานการณ์ราคาพลังงานจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ว่า กระทรวงพลังงาน ได้ประเมินสถานการณ์ราคาพลังงานจากผลกระทบการสู้รบของอิสราเอลและฮามาสช่วงที่ผ่านมา โดยราคามีการขึ้นลงแกว่งในกรอบไม่น่ากังวล
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะเฝ้าระวังราคาน้ำมันและราคาเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารราคาและดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ดังนั้น ขอประชาชนไม่ต้องกังวลว่าน้ำมันขาดแคลนเพราะปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 70 วัน แบ่งเป็นสำรองในประเทศ 45 วัน ปริมาณ 3,910 ล้านลิตร และปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 25 วัน ปริมาณ 2,180 ล้านลิตร
“ส่วนตัวไม่ได้ห่วงมาก แต่ก็จะติดตามสถานการณ์ ซึ่งตอนนี้เห็นว่าอาจจะรุนแรงขึ้น แต่การรุนแรงอาจจะไม่ทำให้ยืดเยื้อก็ได้ อีกทั้ง โชคดีที่ช่วง 2 สัปดาห์ที่แล้ว ราคาตกต่อเนื่องราว 15 ดอลลาร์ พอมีสงคราม ราคาขยับขึ้นมาราว 4 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาทราว 60-80 สตางค์ ถือเป็นราคาที่ไม่กระโดด”
อย่างไรก็ตาม บริษัท บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ประเมิณสถานการณ์โดยเรียกผลกระทบว่า war premium หรือ ราคาพรีเมียมที่เกิดจากสงคราม ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันกระโดดขึ้นไป แต่เป็นในช่วงสั้น ไม่เหมือนสงครามรัสเซียกับยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมัน แต่อิสราเอลถือเป็นประเทศนำเข้า 90% อาจจะมีส่งออกบ้างในประเทศใกล้เคียงแต่ก็ไม่มาก ส่วนประเด็นการปิดเส้นทางการเดินเรือยังไม่น่าเป็นห่วงมากเพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โดยตรง
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางประมาณ 57% และในส่วนของ LNG นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 33% จากหลากหลายแหล่ง
“ตลอด 6 วัน ตลาดน้ำมันแทบไม่ได้ขยับมาก ขึ้นมานิดหน่อยถือว่ารับได้ โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีความเป็นห่วงถึงสถานการณ์ราคาพลังงาน ก็ได้ห่วงใยและให้เตรียมรับมือในทุกสถานการณ์ ดังนั้น แม้ราคาจะขยับขึ้นมาบ้าง กระทรวงพลังงานจะยังคงใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลราคา โดยการชดเชยในช่วงนี้ก็ถือว่าลดลง จาก 6 บาทต่อลิตร เหลือ 4 บาทต่อลิตร เป็นต้น”
นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับแผนรับมือราคาพลังงานปี 2567 สิ่งที่จะทำคือ หารือกับกรมสรรพสามิต เพื่อขอให้ขยายระยะเวลาลดการจัดเก็บภาษีลงไปอีก จากเดิมที่ลดการจัดเก็บลง 2.50 บาทต่อลิตร ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 31 ธ.ค.2566 อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น กองทุนน้ำมันฯ อยู่ระหว่างการกู้เงินที่ยังเหลืออีก 50,333 ล้านบาท เข้าบัญชีเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันในประเทศ ตามพระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2565
ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันฯ ได้ทยอยกู้ยืมเงินโดยสอดคล้องกับแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2566 โดยลงนามในสัญญากู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินรวม 105,333 ล้านบาท จากวงเงิน 150,000 ล้านบาท ปัจจุบัน เบิกเงินกู้ยืมแล้ว 55,000 ล้านบาท โดยฐานะกองทุนน้ำมันฯ วันที่ 8 ต.ค. 2566 ติดลบ 68,327 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 23,322 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 45,005 ล้านบาท
“กระทรวงพลังงานจึงอยากให้ความมั่นใจถึงการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงพลังงานในทุกด้าน โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ เป็นเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้เหมาะสม โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันราคาลดลงมาอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร และก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กก. ส่วนมาตรการช่วยเหลือน้ำมันเบนซินเฉพาะกลุ่มนั้น ขณะนี้ ได้เสนอแผนช่วยเหลือต่อนายพีระพันธุ์ เรียบร้อยแล้ว”