เปิดแผนลงทุนทางด่วนสายใหม่ ศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
การทางพิเศษฯ เปิดไทม์ไลน์แผนลงทุนทางด่วนสายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดผลศึกษาแล้วเสร็จ ก.ย.2567 ประเมินวงเงินลงทุนต่ำกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท เล็งดึง ทอท.ร่วมลงทุน เชื่อหนุนผู้โดยสารเชื่อมสนามบิน
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ประเดิมจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ประเมินแผนดำเนินงานจะเห็นความชัดเจนของรูปแบบลงทุนโครงการภายใน 1 ปีหลังจากนี้ หรือราวเดือน ก.ย.2567
สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ฉายภาพแผนดำเนินงานว่า โครงการนี้ กทพ.จะจัดรับฟังความเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 5 ครั้ง พร้อมดำเนินการศึกษาออกแบบโครงการ คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่กับดำเนินการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดยเบื้องต้น กทพ.คาดว่าจะสามารถเสนอผลการศึกษาโครงการเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ได้ในปี 2568 ก่อนจะเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาในปี 2569 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2570 โดยโครงการจะใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างราว 3 ปี จึงคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573
สำหรับโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เดิมเป็นโครงการอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมทางหลวง (ทล.) และได้มีการโอนให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 โดยจากผลการศึกษาเดิมของ ทล.นั้น ประเมินใช้วงเงินลงทุน 29,500 ล้านบาท ในระยะทาง 18 กิโลเมตร
ขณะที่ กทพ.มีเป้าหมายปรับงานออกแบบให้สามารถลดวงเงินลงทุนจากผลการศึกษาเดิม อีกทั้งยังมีแนวคิดของการเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณการลงทุนลง โดยมีเป้าหมายหนึ่ง คือ การเจรจาร่วมกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้ามาร่วมลงทุน เนื่องจากทางด่วนสายนี้จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจสนามบินของ ทอท.และคาดว่าจะจูงใจให้ ทอท.เข้ามาร่วมลงทุน
ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดช่วงจุดตัดศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน และบรรเทาปัญหาการจราจร บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น
สำหรับแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช ส่วน D บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ ไปตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.18 แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง สามารถเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างสะดวก