ศุลกากรเด้งรับนโยบายนายกฯเข้มตรวจนำเข้าสินค้าเถื่อน

ศุลกากรเด้งรับนโยบายนายกฯเข้มตรวจนำเข้าสินค้าเถื่อน

ศุลกากรเด้งรับนโยบายนายกฯเข้มตรวจนำเข้าสินค้าเถื่อน เน้นสินค้านโยบาย เช่น สินค้าเกษตร เนื้อสัตว์ และ ยาเสพติด กำหนดให้ตรวจเข้มสินค้าที่นำเข้าจากตะเข็บชายแดน และ สินค้าที่สำแดงเป็นอย่างอื่นด้วย

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากรเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมฯเข้มงวดการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่เข้าข่ายเป็นสินค้านโยบาย ซึ่งกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ โดยนอกจากสินค้าสุกร(หมู)ที่มีการลักลอบนำเข้าจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ยังมีสินค้าอื่นๆ เช่น สินค้าเกษตร อาทิ หอม กระเทียม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต่างๆ สินค้าประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อกระบือ เป็นต้น

“ผมได้สั่งการให้ทุกด่านศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดสินค้าตามนโยบายที่คาดว่า จะมีการลักลอบนำเข้ามาตามฤดูกาลต่างๆ เช่น สินค้าเกษตร สินค้าประเภทเนื้อสัตว์ต่าง ๆ รวมถึง ยาเสพติด โดยนอกจากจะตรวจเข้มสินค้าที่นำเข้าจากตะเข็บชายแดน หรือ ช่องทางธรรมชาติแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสำแดงสินค้าที่เป็นอย่างอื่นด้วย”

เขากล่าวด้วยว่า สืบเนื่องจากกรณีกรมฯจับกุมสินค้าหมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าจำนวนมากถึง 161 ตู้ นับจากนี้ กรมฯจะตรวจเข้มการนำเข้าสินค้าหมูให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มากับตู้แช่แข็ง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า แต่ละปี จะมีสินค้านำเข้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากถึง 10 ล้านตู้ เราก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด หรือ ตรวจสอบได้แค่ 10% แต่จากนี้ไป เราจะตรวจสอบให้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน เราไม่พบการนำเข้าสินค้าหมูเถื่อนแบบมาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ แต่มีการจับกุมการนำเข้าแบบประปรายตามแนวชายแดน เช่น มากับรถกระบะ โดยปะปนมากับสินค้าอื่น

ส่วนของความคืบหน้าในการดำเนินการทำลายชิ้นส่วนหมูจำนวน 161 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบังนั้น หลังจากที่กรมฯได้ส่งมอบตู้สินค้าประเภทซากหมูของตกค้างและของกลางในคดีพิเศษ ที่ 59/2023 จำนวน 161 ตู้ ไปทำลายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ก.ย.นี้ แล้ว ได้รับรายงานว่า ขณะนี้ เริ่มมีการทำลายไปจำนวน 21 ตู้ ขณะเดียวกัน กรมฯให้ความร่วมมือและประสานงานร่วมกับ DSI และกรมปศุสัตว์ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ จนกว่าการทำลายของกลางฯ จะสิ้นสุดลง รวมถึง กระบวนการตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่

สำหรับสถิติการจับกุมการนำเข้าหมูเถื่อนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา​พบว่า มียอดจับกุมได้เพิ่มขึ้น​ถึง 20 เท่าตัว โดยในปีงบประมาณ 2564 มีการจับกุม 14 ราย น้ำหนักกว่า 2.36 แสนกิโลกรัม ปีงบประมาณ 2565 มีการจับกุม 25 ราย น้ำหนักกว่า 4.31 แสนกิโลกรัม และปีงบประมาณ 2566 มีการจับกุม 181 ราย น้ำหนักกว่า 4.77 ล้านกิโลกรัม โดยเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าส่วนใหญ่มาจากอเมริกาใต้​ เช่น​ อาร์เจนติน่า​และบราซิล ซึ่งมีต้นทุนอาหารสัตว์ที่ถูกกว่าไทย

“กรมศุลกากรจะดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำเข้าเนื้อหมู​ โดยจะไม่มีการระงับคดีในชั้นศุลกากร​ ซึ่งหมายความว่า จะต้องดำเนินคดีในชั้นศาลทุกราย​ โดยโทษสูงสุดตามกฎหมายศุลกากร คือ ปรับ ​4 เท่าของราคาของบวกอากร​ และจำคุกสุงสุดไม่เกิน 10 ปี”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบการนำเข้าเนื้อสัตว์ ซึ่งประกอบด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนกรมศุลกากร โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากรมีมาตรการในการควบคุมอย่างเคร่งครัดในการเข้มงวด กวดขันการลักลอบ/หลีกเลี่ยง นำเข้าเนื้อสุกร  เนื้อโค เนื้อกระบือ จากต่างประเทศในทุกช่องทาง

นอกจากนี้ ยังให้เร่งรัดติดตามการดำเนินคดี/ยึดทรัพย์ ผู้กระทำความผิดและผู้สนับสนุนการกระทำความผิด และหากมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการทั้งในด้านวินัยและคดีอาญาให้ถึงที่สุด โดยตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อเร่งรัด และตรวจสอบการดำเนินการในเรื่องนี้ขึ้น โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน