'ทศพร' ส่งหนังสือถึง 'กลต.' ออกคำสั่ง ป้องตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท.

'ทศพร' ส่งหนังสือถึง 'กลต.' ออกคำสั่ง ป้องตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท.

รัฐวิสาหกิจอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากการทำธุรกิจนั่นคือ การทำงานสนองนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ ดังนั้น กลไกขับเคลื่อนองค์กรอย่าง “ประธานบอร์ด หรือ บอร์ด” จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามสิศทางลมแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วย 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เรื่อง การตีความข้อบังคับของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างเคร่งครัด ตามสำเนาบันทึกข้อความฉบับลงวันที่ 12 ต.ค. พ.ศ. 2566 ถึงประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อาจมีปัญหากรณีการตีความข้อบังคับของ บริษัทฯ ผิดไปจากที่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด อาจทำให้การกระทำต่าง ๆ ที่เกิดจากการตีความข้อบังคับที่ผิดกฎหมาย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและต่อเนื่อง 

สำหรับข้อบังคับ ปตท. ข้อ 34 ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ประธานกรรมการ หรือ กรรมการ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

1. พ้นตามวาระ

2. ตาย

3. ลาออก

4. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ออกตามข้อ30

5. ขาดการประชุมคณะกรรมเกินสาม (3) ครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมกวร

6. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือ ในข้อบังคับนี้ และ

7.ศาลมีคำสั่งให้ออก

ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการโดยพลการ โดยที่ประธานกรรมการไม่ครบวาระตาม ข้อบังคับข้อที่ 34 เป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับ เจตนาปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างชัดเจน ผู้ได้รับความเสียหาย ผู้ถือหุ้น อาจร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องได้

อย่างไรก็ตาม หนังสือฉบับนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ขอให้กลต. ได้โปรดนำเรื่องและประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กลต. เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่และมีคำสั่งให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติตามข้อบังดับคังกล่าวอย่างเคร่งครัด และหรือมีคำสั่งอื่นใดเพื่อระงับยับยั้งการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผลมาจากการจงใจตีความข้อบังคับผิดไปจากลายลักษณ์อักษรต่อไป

\'ทศพร\' ส่งหนังสือถึง \'กลต.\' ออกคำสั่ง ป้องตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท.

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนบอร์ดบริหารของรัฐวิสาหกิจที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นภายหลังจากมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งส่วนตัวแล้วในช่วงที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร​ ปตท. ดังนั้น เมื่อมาดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงพลังงาน ตำแหน่งประธานบอร์ด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เดิมเป็นนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน คนเดิมที่เกษียณอายุราชการไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2566 จึงเว้นว่างลงไปด้วย

“ส่วนตัวจะต้องเลือกที่จะนั่งกรรมการบริหารที่ใดที่หนึ่ง จะอยู่ในตำแหน่งทั้ง 2 ที่ไม่ได้ จึงต้องเลือกนั่งเป็นกรรมการที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะยังคงอยู่เป็นกรรมการบริหารที่ ปตท. ส่วน กฟผ. ตอนนี้มีรายชื่อครบแล้วภายหลังจากบอร์ดชุดเก่าได้ลาออกไปทั้งชุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566”

รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ได้มีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะว่ามีผู้มีอำนาจฝ่ายการเมืองต้องการเปลี่ยนตัวประธานกรรมการและกรรมการ ปตท. ชุดใหม่ เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลใหม่ที่มีเป้าหมายลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า, ก๊าซหุงต้ม (LPG) และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมบอร์ด ปตท. เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา ก็ยังไม่ได้มีการพิจารณาแต่งตั้ง ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คนใหม่แทน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ดังนั้น จึงต้องจับตาว่า ในการประชุมคณะกรรมการบอร์ด วันที่ 19 ต.ค. 2566 จะมีเสนอวาระการแต่งตั้งบอร์ดบริหาร ปตท. โดยเฉพาะประธาน บอร์ด ปตท. หรือไม่

สำหรับศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ได้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.2565และเคยยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งในบอร์ด ปตท.ทั้งหมดเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2565 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2565 โดยระบุว่าเป็นหตุผลส่วนตัว ท่ามกลางกระแสข่าวถูกแรงกดดันทางการเมืองบีบให้ลาออก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นขอไม่ให้ลาออก

ที่ผ่านมามีการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างบอร์ดรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงพลังงาน อย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และปตท. ถึงความพร้อมที่จะเปิดทางให้รัฐบาลชุดใหม่แต่งตั้งบอร์ด ให้เข้ามาทำงานสนองนโยบายที่ประกาศไว้ ส่วนรัฐบาลจะมีการแต่งตั้งคนเก่าเข้ามาเป็นบอร์ดใหม่อีกหรือไม่ จะเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะพิจารณาความเหมาะสม เพื่อให้สามารถวางคนให้ถูกที่ถูกทาง และถูกใจการเมืองด้วย