ร้อง “ก.ล.ต.-ปปช.” ปมการเมืองแทรก “ทศพร” ลาออกประธานบอร์ด ปตท.
ผู้ถือหุ้น ปตท.ร้อง “ก.ล.ต.-ปปช.” ปมการเมืองแทรก “ทศพร” ลาออกประธานบอร์ด ปตท. จี้สอบจริยธรรม-ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
นายสยามราช ผ่องสกุล ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียและเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือได้ร้องเรียนถึง นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการ ก.ล.ต., พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.)
เรื่อง ขอให้ดำเนินการตรวจสอบ/สอบสวน ผู้บริหาร ฝ่ายการเมือง ที่เข้ามาแทรกแซงการดำเนินกิจการภายในของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ประมวลจริยธรรม และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ทั้งนี้ ในเนื้อความของหนังสือร้องเรียนมีใจความสำคัญ อาทิ จากข่าวที่เผยแพร่ปรากฏสู่สาธารณชนทั่วไปหลายสำนัก ได้พาดหัวข้อข่าวเป็นข่าวดัง ข่าวใหญ่ ไปในทำนองเดียวกันทำให้เกิดเป็นข้อพิรุธและน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกรณีการยื่นหนังสือลาออกจากประธานกรรมการ หรือประธานบอร์ด บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ หลังจากพึ่งได้รับเลือกตั้งจากคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565 ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 7 เดือน ทั้งที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร เป็นบุคคลที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) ไว้วางใจให้เป็นถึงที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ ปี2563 จนถึงปัจจุบัน มีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง ทำให้สังคมเกิดคำถามว่า “สาเหตุ” คืออะไรกันแน่
นอกจากนี้ ตามข่าวยังรายงานว่า ซีอีโอและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ได้ทำหนังสือชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวต่อกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงวันที่ 19 ต.ค. 2565 ว่า ณ วันที่ทำหนังสือชี้แจง ปตท. ยังไม่ได้รับหนังสือลาออกจากตำแหน่งของ “ดร.ทศพร” ตามที่ปรากฏในข่าวแต่อย่างใด ตนจึงเกิดคำถามตามมาคือแล้ว “ใคร” ปล่อยข่าวนี้?
นอกจากนี้ มีความพยายามที่จะให้คณะกรรมการกำกับกิจการที่ดีและความยั่งยืนของ ปตท. ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดย่อยของ ปตท.เป็นผู้เสนอวาระการเปลี่ยนตำแหน่งประธานกรรมการ ปตท.ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ ตามรายงานข่าวว่า นายทศพร นอกจากจะไม่ยอมลาออกแล้ว ยังได้ส่งสัญญาณต่อต้านความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยอาจจะมีการเปิดเผยข้อมูลผ่าน Line ในการสั่งการบางอย่างที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาล้วงลูกสั่งการ อันเป็นที่มาของความขัดแย้งและความพยายามในการเปลี่ยนตัวนายทศพร
อีกทั้ง ตามรายานข่าวระบุว่า การประชุมคณะกรรมการ ปตท. ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ หากนายอรรถพลดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกระแสข่าวการลาออกของนายทศพรเสร็จทัน ก็จะรายงานผลให้บอร์ด ปตท. รับทราบ อย่างไรก็ตาม การประชุมบอร์ด ปตท. ในวันดังกล่าว จะไม่มีวาระการพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนตัวประธานบอร์ด ปตท. แต่อย่างใด เนื่องจากบอร์ด ปตท. ไม่มีอำนาจ ขณะที่การเปลี่ยนตัวประธานบอร์ด ปตท. นั้น จะต้องเป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีข่าวนำเสนอว่า พลเอกประยุทธ์ ได้เป็นคนกลางเคลียร์รอยร้าว ในบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ข้อสรุปให้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ปตท.นั่งประธานบอร์ด ปตท.ต่อไป หลังจากเรียกทั้ง นายทศพร และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาหารือปรับความเข้าใจ ที่ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงสายวันที่ 27 ต.ค.2565
ทั้งนี้ จากข่าวที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีการแทรกแซง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยนักการเมือง โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้าในฐานะผู้ถือหุ้น ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือขอให้ท่านได้โปรดดำเนินการตรวจสอบ/สอบสวน ผู้บริหาร ฝ่ายการเมือง ที่เข้ามาแทรกแซงการดำเนินกิจการภายในของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง อันเป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ตามอำนาจหน้าที่ของท่าน ตามประเด็น ดังนี้
1.นักการเมืองที่แทรกแซงการบริหารงาน ปตท.และบริษัทในเครือ และมีความพยายามเปลี่ยนตัว ดร.ทศพร ออกจากประธานบอร์ด ปตท. คือใคร
2.โดยปกติทั่วไปแล้ว ข่าวการลาออกของประธานบอร์ดบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ผู้บริหารจะต้องทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างเป็นทางการก่อนที่จะเผยแพร่ผ่านสื่อ แต่กรณี “ดร.ทศพร” กลับมีข่าวพร้อมเอกสารซึ่งเป็นหนังสือลาออกลงวันที่ 15 ต.ค. 2565 ส่งสื่อมวลชนก่อนที่คณะกรรมการบริหาร ปตท. จะส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เสียอีก
นอกจากนี้ ที่เป็นข้อพิรุธและน่าสงสัยกว่านั้น ปรากฏว่า หลังจากนั้น 4 วัน นายอรรถพล ได้ทำหนังสือชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวต่อกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงวันที่ 19 ต.ค. 2565 ว่า ณ วันที่ทำหนังสือชี้แจง ปตท. ยังไม่ได้รับหนังสือลาออกจากตำแหน่งของ “ดร.ทศพร” ตามที่ปรากฏในข่าวแต่อย่างใด ข้าพเจ้าขอให้สอบสวนในประเด็นดังกล่าวด้วยว่ามีบุคคลใดอยู่เบื้องหลัง
3.นักการเมืองที่ต้องการให้บอร์ด ปตท. แต่งตั้งคนของ “กลุ่มทุนพลังงาน” รายหนึ่งเข้ามาดูแลตำแหน่งผู้บริหารที่ว่างอยู่ ทั้ง 2-3 บริษัท เมื่อ “ดร.ทศพร” ประธานบอร์ดไม่ตอบรับ จึงเกิดปรากฏการณ์แทรกแซงตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท.ดังกล่าวขึ้น นักการเมืองดังกล่าวคือใคร กลุ่มทุนพลังงานเป็นใคร และบุคคลที่เป็นคนของกลุ่มทุนพลังงานคือใคร
4.นักการเมืองที่เข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR แทน “จิราพร ขาวสวัสดิ์” ที่เกษียณอายุไปเมื่อกันยายน 2565 ที่ผ่านมาคือใคร
5.นักการเมืองที่เข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. แทน “วิรัตน์ เอื้อนฤมิต” ที่ผ่านมาคือใคร
6.นักการเมืองที่เข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. คือใคร
7.เนื่องจากตำแหน่งกรรมการ จะต้องอาศัยเสียงของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเท่านั้นในการเปลี่ยนกรรมการ หากกรรมการผู้นั้นไม่ลาออก ส่วนตำแหน่งประธานกรรมการต้องเป็นการลงมติจากการประชุมกรรมการเท่านั้นถึงจะเปลี่ยนแปลงได้ กรณีมีคำสั่งจากนักการเมือง ให้กรรมการลงมติ ในการประชุมกรรมการ (บอร์ด) วันที่ 27 ต.ค. 2565 นี้ ถอด ดร.ทศพร อออกจากคำแหน่ง ประธานบอร์ด ปตท. โดยเหลือเพียงการเป็นกรรมการอิสระเพียงอย่างเดียว คือใคร
8.นักการเมืองที่แทรกแซงการบริหารงานของปตท.และบริษัทในเครือ และมีความพยายามเปลี่ยนตัวนายทศพร ออกจากประธานบอร์ด ปตท. ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ คือใคร คำสั่งที่ได้สั่งผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์สั่งว่าอย่างไร ผู้ใดเป็นคนออกคำสั่ง
9. ที่ผ่านมามีนักการเมืองบางรายได้พยายามบีบให้ ดร.ทศพรลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. รวมทั้งมีความพยายามในการผลักดันการแต่งตั้งบุคคลบางคนเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญใน ปตท. ท่ามกลางเสียงคัดค้านจาก กรรมการ ปตท. บางคน นั้น นักการเมืองคนดังกล่าว คือใคร และบุคคลที่นักการเมืองมีความพยายามผลักดันแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด และตำแหน่งสำคัญใน ปตท.คือใคร
10. เป็นความจริงหรือไม่ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เป็นคนกลางเคลียร์รอยร้าว ใน ปตทได้ข้อสรุปให้ ดร.ทศพร นั่งประธานบอร์ด ปตท.ต่อไป หลังจากเรียกทั้ง นายทศพร และนายสุพัฒนพงษ์ มาหารือปรับความเข้าใจ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2565
ทั้งนี้ เป็นความจริงหรือไม่สำหรับประเด็นที่มีการหารือกันเกี่ยวกับข่าวการลาออกของนายทศพร โดยเฉพาะรอยร้าวในการแต่งตั้งผู้บริหารบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งสามารถจบลงด้วยดี โดยได้ข้อยุติปัญหาความขัดแย้ง โดยจะไม่มีการเปลี่ยนประธานกรรมการ ปตท. รวมทั้งมีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บริหารบริษัทของบริษัทลูก ปตท. โดยในส่วนไทยออยล์ มีการยอมให้นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทยออยล์
การที่ยอมให้นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทยออยล์ เป็นการแทรกแซงของนักการเมืองหรือไม่ ผู้ใดเป็นผู้แทรกแซง
11. การเข้าสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องผ่านคณะกรรมการสรรหา และมีกระบวนการสรรหา เพื่อสรรหาเอาบุคลที่มีเหมาะสมให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง
มิใช่มีคำสั่งจากฝ่ายการเมือง หากการเมืองเข้ามาแทรกแซงก็เป็นความผิดตามประมวลจริยธรรม และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
กรณีข่าวออกมาในลักษณะที่มีการเกี๊ยะเซียะกันระหว่างนายกรัฐมนตรี ประธานบอร์ดปตท.แล้วก็นายสุพัฒนพงษ์ รมต.พลังงาน ว่ามีการยอมให้นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) โดยที่ยังไม่ผ่านกระบวนการสรรหาและยังไม่ผ่านคณะกรรมการสรรหา
ดังนั้น การเลือก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไทยออยล์ คณะกรรมการสรรหาและกระบวนการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือไม่ หากผลการสรรหาปรากฎว่าเป็นนายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ขอท่านได้โปรดสอบสวนในประเด็นดังกล่าวโดยละเอียดด้วยว่ามีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองหรือไม่ ผู้ใดเป็นผู้แทรกแซง และขอท่านได้โปรดเรียกพยานหลักฐานที่สำคัญโดยเฉพาะบทสนทนาผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ระหว่างประธานบอร์ด ปตท.และผู้ที่เกี่ยวข้อง กับนักการเมืองในกรณีดังกล่าวมาพิจารณาด้วย
12. เหตุการณ์ดังกล่าวตาม ข้อ 1 ถึง ข้อ 11 เพื่อเป็นการแสวงหาความจริงให้ปรากฏ เกี่ยวกับการบริหารจัดการของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือ ขอให้ท่านได้โปรดเรียก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ (ประธานกรรมการ หรือประธานบอร์ด และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เข้ามาให้ถ้อยคำ เพื่อสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย
13. เหตุการณ์ดังกล่าวตาม ข้อ 1 ถึง ข้อ 11 เพื่อเป็นการแสวงหาความจริงให้ปรากฏ เกี่ยวกับการบริหารจัดการของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือ ขอให้ท่านได้โปรดเรียก กรรมการบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ทุกท่านเข้ามาให้ถ้อยคำ เพื่อสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ เพื่อยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ตั้ง ข้าพเจ้าจึงขอร้องทุกข์กล่าวโทษต่อท่าน ว่ามีกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันกระทำการแทรกแซงการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และ แทรกแซงการแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือของบริษัทปตท. ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ให้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้รับความเสียหาย และเป็นความผิดตามประมวลจริยธรรม และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ขอให้ท่านได้โปรดดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่และได้โปรดนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายด้วยโดยเร่งด่วน