Economic Thought ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ
วันที่ 17 ตุลาคม ของทุกปี เป็น International Day for the Eradication of Poverty หรือวันแห่งการขจัดความยากจน จึงตั้งใจที่จะเขียนประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับการขจัดความยากจนซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญมาก
ประกอบกับ เมื่อช่วงต้นเดือน “8” ที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในงาน 36 ปี กรุงเทพธุรกิจ Thailand Economic Outlook 2024 ความตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ always a big win คือ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผู้เขียนดีใจเป็นอย่างมากที่ได้ยินเช่นนั้น จึงอยากขอฉายภาพสะท้อนบริบทของความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยให้เห็นเป็นแนวทางสำหรับติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลต่อไป
ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านร่างรายงานของธนาคารโลกเรื่อง Bridging the Gap: Inequality and Jobs in Thailand ซึ่งรายงานฉบับสมบูรณ์จะเปิดตัวในเดือนพ.ย.นี้ และพบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่จะขอนำมาเล่าสู่กันฟัง
เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยได้ลดลงแล้ว ซึ่งก็ทั้งจริง และไม่จริง ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยได้ปรับตัวลดลงในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปี 2564 ดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (Gini Coefficient) อยู่ที่ระดับ 43.3% ลดลงจาก 52.4% ในปี 2543 ซึ่งการลดลงของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในช่วงดังกล่าว พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของช่องว่างด้านรายได้ โดยระดับรายได้ของแรงงานทักษะต่ำเทียบกับรายได้ของแรงงานทักษะสูงยังห่างกันอยู่มาก
นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยยังจัดอยู่ในระดับที่สูงหากดูจาก ‘การกระจุกตัว’ ของรายได้ และความมั่งคั่ง โดยพบว่ารายได้สุทธิของประชากรกลุ่มที่มีฐานะดีที่สุด (10% แรก) มีสัดส่วนสูงถึง 48.8% ของรายได้ประชากรทั้งประเทศ และหากดูที่ความมั่งคั่ง จะพบว่าความมั่งคั่งสุทธิของประชากรกลุ่มนี้สูงถึง 74.2% ของประชากรทั้งประเทศ การกระจุกตัวเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ระดับเดียวกัน
จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า ในช่วงระหว่างปี 2554-2562 ดัชนีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของประเทศไทยโดยรวมลดลงเล็กน้อย โดยครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำถือครองสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 55.7% แต่หนี้ครัวเรือนก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 36%
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความเหลื่อมล้ำที่สูงในประเทศไทยคือ การกระจุกตัวของการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยกรุงเทพมหานคร มีงบลงทุนจากภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง มากกว่าจังหวัดอื่นๆ อีกปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวลคือ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในอีก 37 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 31% ของจำนวนประชากร หากไม่มีการปฏิรูประบบบำนาญผู้สูงอายุ ก็จะทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากมีรายได้ที่ไม่พอเพียง ตกอยู่ในสภาวะที่แย่ยิ่งกว่า ‘แก่ก่อนรวย’ และจะส่งผลกระทบต่อประชากรวัยทำงานกับภาระหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย การเข้าสู่สังคมสูงอายุจึงเป็นอีกปัจจัยที่จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด
ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำลงได้ รายงานของธนาคารโลกได้กล่าวถึงบทบาทของนโยบายการคลังในการลดความเหลื่อมล้ำไว้อย่างน่าสนใจ โดยพบว่าระบบการคลังของไทยมีลักษณะเป็นแบบก้าวหน้า โดยมีสัดส่วนของการแบ่งสันประโยชน์ที่ได้จากภาษีอากรที่จัดเก็บจากครัวเรือนรายได้สูงไปสู่ครัวเรือนรายได้ต่ำผ่านระบบสวัสดิการต่างๆ ซึ่งระบบการคลังดังกล่าว มีส่วนในการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ถึงแม้การจัดสวัสดิการจะมีความครอบคลุมที่ค่อนข้างทั่วถึง แต่มูลค่าของสวัสดิการยังค่อนข้างต่ำ และหากมีการจัดสรรที่ ‘มุ่งเป้า’ ได้มากขึ้น จะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่านี้ และมองไปในอนาคต ความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่าย และลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่อีกมาก ดังนั้น ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ให้เพียงพอต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยไม่เป็นภาระเพิ่มเติมให้กับผู้มีรายได้น้อย จึงมีความสำคัญอย่างมาก
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงสาระสำคัญบางส่วนจากรายงาน Bridging the Gap: Inequality and Jobs in Thailand เท่านั้น ยังมีเรื่องสำคัญที่ปรากฏอยู่ในชื่อของรายงานอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ‘Jobs’ ซึ่งธนาคารโลกได้วิเคราะห์และเสนอแนะไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง เมื่อรายงานได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ผู้เขียนจะได้นำเนื้อหาส่วนนี้มาเล่าสู่กันฟังต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์