‘เศรษฐา’ หารือ 10 ‘บิ๊กคอร์ป’ จีน ดึงลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค - ขยายธุรกิจในไทย
“เศรษฐา” เยือนจีนร่วมประชุม BRF พบ 10 บิ๊กคอร์ปจีน ดึงลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย โชว์ “แลนด์บริดจ์” แม่เหล็กใหม่ของไทย หารือ CRRC ลงทุนระบบราง “ผิงอัน” สนลงทุนบริการประกันภัยนอกประเทศ ดึง “อาลีบาบา” ขยายลงทุน Cloud Service ในไทย “เสี่ยวมี่” เล็งขยายผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะนักธุรกิจไทย 50 ราย ร่วมคณะเดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16-19 ต.ค.2566 ตามคำเชิญนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เพื่อร่วมประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Coperration - BRF) ครั้งที่ 3
การเยือนจีนครั้งนี้มีกำหนดหารือทวิภาคีการประธานาธิบดีจีน ในวันที่ 19 ต.ค.2566 รวมทั้งหารือกับบริษัทจีนรายใหญ่ 10 แห่ง เพื่อชักชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันจีนเข้ามาลงทุนอันดับ 1 ของไทย โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) 90,346 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลค่า FDI ทั้งหมด
สำหรับการหารือในวันที่ 17 ต.ค.2566 นายกรัฐมนตรีได้หารือกับบริษัทจีน 6 บริษัท โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปผลการหารือ ดังนี้
1.CRRC Group นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนาย Yongcai Sun, Chairman and Executive Director, CRRC Group ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางใหญ่ที่สุดในโลก มีสายการผลิตและบริการครบวงจร
ทั้งนี้ CRRC Group สนใจลงทุนในไทยในส่วนที่มีศักยภาพ โดยนายกรัฐมนตรีเชิญชวนมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง รวมถึงสาขาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ BCG Economy พลังงานหมุนเวียน และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรัฐบาลเชื่อว่าจะมีส่วนร่วมพัฒนาระบบรางในไทยแบบครบวงจร รวมถึงร่วมพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟเพื่อการขนส่ง
รวมทั้งนายกรัฐมนตรีเชิญชวนมาตั้งโรงงานในไทย ควบคู่การถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งไทยพร้อมด้านแรงงานและ healthcare ที่จะดูแลนักลงทุน และมีความต้องการหัวจักรรถไฟจำนวนมาก โดยเสนอให้มองภาพระยะยาวการลงทุนในไทยที่จะเติบโตขึ้น
ขณะที่รัฐบาลกำลังผลักดันโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค เพื่อการขนส่งด้านพลังงานและสินค้า เพื่อย่นระยะเวลาและประสิทธิภาพการขนส่งไปทั่วโลกได้ง่ายขึ้น
ดึง“อาลีบาบา”ลงทุน
2.Alibaba Group Corporate นายกรัฐมนตรีหารือกับ Fan Jiang ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Alibaba International Digital commerce Group โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าการขยายลงทุน Cloud Service ในไทยจะสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย เชื่อมั่นว่ายังมีโอกาสในการลงทุนไทยได้อีกมาก
ขณะที่อาลีบาบามองว่าไทยมีศักยภาพเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งไทยเป็นตลาดใหญ่และมีลูกค้าตลาดใหญ่ และยินดีสนับสนุนการฝึกอบรม (e-training) ให้ไทย โดยการสนับสนุนให้ตั้ง E-commerce training สำหรับบุคลากรและแรงงานไทย
นอกจากนี้ จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และเสนอตั้ง Smart digital hub ในไทย รวมทั้งการพัฒนา Travel platform เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่กำลังร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเกี่ยวของกับมาตรการความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยใช้ระบบออนไลน์และเสนอการใช้ใบขับขี่จีนในไทย รวมถึงจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย
3.Xiaomi นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนาย Alain Lam ผู้ช่วยผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน โดย Xiaomi จะขยายการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไทยสำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทและนำสู่ตลาดโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มทักษะการผลิตของแรงงานไทยควบคู่การฝึกอบรมเพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ และได้ตั้งบริษัท Xiaomi Technology (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อจำหน่ายและทำการตลาดโทรศัพท์มือถือในไทย รวมทั้งขยายตลาดในอาเซียนต่อเนื่อง โดยตลาดอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่ที่สุด รองลงมาคือไทย
นายกรัฐมนตรีขอให้ขยายการลงทุนการค้าในไทย พร้อมทั้งให้ความมั่นใจการเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ EV ของภูมิภาค ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่พร้อมและสภาพแวดล้อมที่ได้เปรียบ รวมทั้งโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นโอกาสของ Xiaomi ในการร่วมกันพัฒนาในกรอบ BRI ซึ่ง Xiaomi กำลังมองหาโรงงานผลิตเพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจ
“ผิงอัน”สนประกันภัยนอกประเทศ
4.Ping An นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนาย Xie Yonglin ประธานกรรมการบริหารบริษัท Ping An โดย Ping An ขานรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนสีเขียวของไทย ซึ่งตั้งเป้าหมายลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ในโครงการที่มีแนวโน้มการปลดปล่อยคาร์บอนสูง รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการปล่อยกู้ การออกพันธบัตร รวมทั้งการให้ประกันให้โครงการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับปี 2566 Ping An ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการลงทุนสีเขียวมากเพิ่มขึ้นอีก 20% และจะขยายการบริการประกันภัยนอกประเทศ ซึ่งจะพิจารณาไทยเป็นประเทศแรก สำหรับ Healthcare นั้น Ping An ขายประกันและมีลูกค้าประกันสุขภาพขนาดใหญ่ จึงต้องมี Healthcare รองรับซึ่งไทยมีบริการเป็นที่ยอมรับ
อีกทั้งไทยมีความร่วมมือด้าน Visa Free ซึ่งทั้งการประกัน และ Healthcare จะขยายธุรกิจต่อเนื่องได้ โดยคนจีนนิยมไปไทยอันดับต้นทั้งท่องเที่ยว การรักษา รวมถึงการหาที่อยู่ในระยะยาว ซึ่งการหารือกับนายกรัฐมนตรีทำให้สนใจลงทุนในไทยมากขึ้น รวมทั้งนายกรัฐมนตรีเชิญชวนมาลงทุนในไทยมากขึ้น และยินดีต้อนรับการลงทุนจากทุกด้านที่ Ping An เชี่ยวชาญ เช่น Healthcare การเงิน
“ซิติก”สนลงทุนพลังงานสะอาด-นิคมฯ
5.CITIC Group นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนาย Zhu Hexin ประธาน CITIC Group Corporation โดยเชิญชวนให้มาลงทุนอุตสาหกรรมยุทธศาสาตร์ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การแพทย์และพลังงานสะอาด
รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะ EV อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะต้นน้ำและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนเชิญชวนให้ตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาค (Regional Headquarter) โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชวนมาขยายธุรกิจการเงินในไทย ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวข้องการเงินอยู่แล้ว เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ มีใบอนุญาตทางการเงินการธนาคารครบถ้วนและอยู่ในอันดับต้นในจีน จึงมีศักยภาพลงทุนในไทย
รวมทั้งเชิญชวนมาลงทุน EV ในลักษณะซัพพายเชน เช่น ล้อแม็กซ์ ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยไทยสนับสนุนมาตรการและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนที่น่าสนใจด้วยมาตรการของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
ขณะที่ CITIC Group สนใจขยายความร่วมมือกับไทยหลายด้าน โดยหวังว่าไทยและ CITIC Group จะร่วมมือต่อยอดและขยายการลงทุนในไทย โดยเฉพาะสาขาที่ไทยสนใจ เช่น พลังงานสะอาด การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม
6.China North Industries Corporation (NORINCO) โดยนายกรัฐมนตรีได้หารือกับนาย Yang Xiaoqing รักษาการประธาน NORINCO ซึ่งเป็นบริษัทด้านการป้องกันประเทศของจีนที่ผลิตผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์และการทหาร และเป็นผู้รับเหมาด้านการป้องกันประเทศใหญ่ที่สุดในโลก
เตรียมหารือ “หัวเว่ย-เท็นเซ็นต์”
สำหรับกำหนดการของนายกรัฐมนตรีในการเยือนประเทศจีนในวันที่ 18-19 ต.ค.2566 มีกำหนดหารือกับบริษัทอีก 4 แห่ง เพื่อหารือด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุน ได้แก่ 1.บริษัท EVE Energy 2.บริษัท GDS Data 3.บริษัท Huawei และ 4.บริษัท Tencent
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การประชุม BRF ครั้งที่ 3 โดยนายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม High-Level Forum หัวข้อ “Green Silk Road for Harmony with Nature” ในวันที่ 18 ต.ค.2566
รวมทั้งร่วมประชุม Thailand-China Investment Forum ในวันที่ 19 ต.ค.2566 นายกรัฐมนตรีจะปาฐกถาพิเศษเปิดงาน โดยจะมีนักธุรกิจจีนร่วมงานจำนวนมาก โดยมีการให้ข้อมูลการลงทุนในไทยจากนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ , นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI , นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ขณะที่ตัวแทนจากประเทศจีนจะมีนายจาง เสี่ยวตง รองประธานบริหารอาวุโส Bank of China บรรยายเรื่องบทบาทการสนับสนุนการค้าการลงทุนไทย-จีน