‘เศรษฐา’ ดึงจีนลุยลงทุน ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อมโยงเส้นทาง ‘Belt and Road’

‘เศรษฐา’ ดึงจีนลุยลงทุน ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อมโยงเส้นทาง ‘Belt and Road’

“เศรษฐา” กล่าวถ้อยแถลงเวทีone belt one roadที่จีน ดันโครงการแลนด์บริดจ์ภาคใต้ เป็นส่วนสำคัญเชื่อมโยงจีน ชูลดต้นทุน-เวลา ขนส่งไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา หารือผู้บริหาร CEO บริษัท CHEC เชิญชวนร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ 

โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ “แลนด์บริดจ์” เป็นเมกะโปรเจกต์สำคัญที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดัน เพื่อสร้างจุดขายใหม่ให้กับประเทศไทย โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 มีมติรับหลักการโครงการแลนด์บริดจ์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างเยือนจีนและร่วมประชุม Belt and Road for International Cooperation (BRF) ในวันที่ 18 ต.ค.2566 และกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม “High-Level Forum” ภายใต้หัวข้อ “Green Silk Road for Harmony with Nature” ณ ศูนย์การประชุม China National Convention Center (CNCC) กรุงปักกิ่ง

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญว่า รัฐบาลชื่นชมความสำเร็จในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) พร้อมเน้นย้ำแนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อมโยงเป็นกลไกสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

การประชุม BRF ในครั้งนี้เป็นโอกาสดีในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่โลกเผชิญความท้าทายทุกรูปแบบตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ไปจนถึงการถดถอยทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งล้วนเกิดจากการเสื่อมถอยของความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

นายกฯ โชว์แลนด์บริดจ์เชื่อม BRI

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งให้ความเห็นชอบแนวทางการศึกษาและแผนการดำเนินงานโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิก 

รวมถึงปรับปรุงการเชื่อมต่อในพื้นที่อันดามันทางตอนใต้ ลดเวลาการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ภายใต้แนวคิด “One Port, Two Sides” ในระยะทางทางบก 90 กิโลเมตรทางภาคใต้ของไทย

‘เศรษฐา’ ดึงจีนลุยลงทุน ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อมโยงเส้นทาง ‘Belt and Road’

“นายกรัฐมนตรีหวังว่าโครงการนี้จะทำงานร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานของ Belt and Road Initiative หรือ “BRI” ของจีน และมีส่วนช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงในระดับโลกได้ โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการทำงานร่วมกันภายใต้ BRI และสร้างความร่วมมือ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน”

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อน BRI ไปสู่ “ความร่วมมือสายแถบและเส้นทางคุณภาพสูงเพื่อ “การพัฒนาและความรุ่งเรือง” (Common Development and Prosperity) โดยไทยมุ่งมั่นที่จะนำบทเรียนจากโครงการนี้ไปเป็นแนวปฏิบัติภายในประเทศ

ซึ่งไทยมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในเวทีระหว่างประเทศมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2559 โดยไทยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน ซึ่งได้ส่งเสริมความร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก

ดึงบริษัทจีนลงทุน“แลนด์บริดจ์”

นอกจากนี้ นาย Wang Tongzhou ประธานบริษัท CHEC เข้าพบนายกรัฐมนตรี โดย CHEC เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างในโครงสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของจีน โดยดำเนินกิจการในประเทศไทยมายาวนาน ภายใต้ชื่อจดทะเบียนบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งประกอบธุรกิจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่ง และการให้บริการคำปรึกษาด้านวิศวกรรม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2582

สำหรับ CHEC ดำเนินธุรกิจก่อสร้าง คมนาคม เป็นอันดับ 1 ของเอเชียด้านก่อสร้าง มีการลงทุนในไทย เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง จนถึงเฟส 3 บริษัทยืนยันได้รับการสนับสนุนจากไทยด้วยดีมาตลอด และ BRI จะเป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือเข้าสู่มิติใหม่ รวมทั้งยินดีที่ไทยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบถ้วนครอบคลุมในประเทศ ซึ่งได้เสนอความร่วมมือของบริษัทฯ ดังนี้

1.ทางหลวงและระบบราง เฟส 3 ของท่าเรือแหลมฉบัง ดำเนินไปด้วยดี มีแผนผนวก ท่าเรือ เมืองและนิคมเข้าด้วยกัน

2.โครงการแลนด์บริดจ์ บริษัทฯ ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีหากบริษัทฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมในแลนด์บริดจ์ ซึ่งมีโครงการสร้างและขยายสนามบินด้วย จึงขอให้บริษัทฯ ได้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของไทย อาทิ กระทรวงคมนาคม

สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ ของไทยทั้งแลนด์บริดจ์ ท่าเรือ โครงการรถไฟขอให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการเข้ามาลงทุน เพื่อขอรับสิทธิพิเศษการลงทุนตามนโยบาย โดยนายกีรัฐมนตรีชักชวนให้มาเปิด Regional office ในไทยเพื่อประโยชน์มากขึ้น

นายกฯ หนุน Geely ลงทุน EV ในไทย

รวมทั้ง นายแดเนียล ลี CEO บริษัท Geely เข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นโอกาสดีสำหรับ Geely และรัฐบาลไทยที่จะได้หารือเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและกิจการต่อเนื่องในประเทศไทย และขอบคุณบริษัทที่เห็นศักยภาพและพิจารณาลงทุนในประเทศไทย

รวมทั้งทราบว่าบริษัทมีแผนจะนำรถ EV Pickup ไปจำหน่ายในไทยในเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งนายกฯ เห็นว่ายังไม่มีผู้นำตลาดรถกระบะไฟฟ้าภายในประเทศจึงเป็นโอกาสดีของบริษัทที่จะเข้ามาทำตลาดในไทยในฐานะผู้นำตลาดรถกระบะไฟฟ้าในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ไทยมีโอกาสสำหรับการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ดีที่สุด บริษัทฯ สนใจลงทุนในไทย ด้านยานยนต์ โดยเฉพาะ EV พลังงาน Solar และนายกฯ เชิญชวนให้บริษัทฯ ผลิตรถยนต์ EV ทั้งระบบ ครบวงจร โดยไทยยินดีเสนอสิทธิพิเศษการลงทุนและอำนวยความสะดวก

โดยไทยมีศักยภาพรองรับ และเป็น Detroit of Asia อยากเชิญชวนบริษัท มาผลิตรถ EV ทั้งระบบ ตั้งแต่อะไหล่ เครื่องยนต์ จนถึงการประกอบรถยนต์ เพื่อส่งออก บริษัทตั้งเป้าผลิตรถซีดานปีละ 100,000 คันต่อปี แต่หากรวมรถประเภทอื่นจะถึง 200,000 คันต่อปี แต่ยังมีปัญหาเรื่องการใช้งาน เพราะรถกระบะไฟฟ้าใช้งานหนักไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี swap battery เพื่อสะดวกต่อการชาร์จ จึงต้องการพื้นที่สำหรับ station การชาร์จ และการเปลี่ยนแบตเตอรี่ ซึ่งตรงนี้บริษัทให้ความสำคัญมาก ซึ่งไทยเห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ติดขัดกับระเบียบปัจจุบัน แต่จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ร่วมกัน