ผ่าแหล่งเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 5.6 แสนล้าน ยืม รสก. - รีดภาษี - เกลี่ยงบฯปี67
“รัฐบาล” เร่งสรุปงบโครงการเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน ยืมเงินรัฐวิสาหกิจก่อน 2.6 แสนล้าน พร้อมรีดภาษีเงินได้นิติบุคคล-แวตอีก 1 แสนล้าน เล็งปรับลด-โยกงบปี 66-67 อีก 2 แสนล้าน คาดดันจีดีพี 0.8-1.3% ห่วงล่าช้าเหลือ 0.60-0.98%
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเป็นครั้งที่ 2 ในวันนี้ (19 ต.ค.2566)
หลังจากการประชุมครั้งแรกให้โจทย์หน่วยงานต่างๆ เช่น การมอบหมายให้สมาคมธนาคารรัฐพิจารณาผู้จัดทำระบบเติมเงินในลักษณะ e-Money ที่มีเงื่อนไขผ่านทางกระเป๋าเงินดิจิทัล ขณะเดียวกันมอบให้ผู้แทนสำนักงานตำรวตแห่งชาติดูการป้องกันทุจริต ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะช่วยยืนยันร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ
แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ เปิดเผยว่า แหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการนี้แม้ว่าประเมินว่าขนาดของโครงการจะอยู่ที่ 540,000 ล้านบาท เพราะประเมินจากผู้ลงทะเบียนในโครงการนี้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป อาจมีจำนวน 54 ล้านคน โดยในกรอบวงเงินที่หารือในคณะอนุกรรมการฯ ยังคงกำหนดกรอบไว้ที่ 560,000 ล้านบาท ตามเดิมที่รัฐบาลได้มีการออกแบบไว้
สำหรับแหล่งเงินนั้นรัฐบาลกำหนดแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ 4 ส่วน ได้แก่
1.รายได้จากเงินที่รัฐบาลจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 ประมาณ 260,000 ล้านบาท จากการเติบโตของเศรษฐกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นในระดับ 5%
อย่างไรก็ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐในส่วนนี้ภาครัฐจะเข้ามาในช่วงปลายปีงบประมาณ 2567 หรือในช่วงต้นปีงบประมาณ 2568 ทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi -fiscal Measures) โดยยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจมาใช้ไปก่อน แล้วรัฐบาลจะทยอยตั้งงบประมาณชดเชยคืนให้ในภายหลัง
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีบอกว่าแนวทางนี้รัฐบาลจะตั้งงบประมาณทยอยจ่ายคืนให้กับรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลมีการยืมเงินปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณในปีงบประมาณต่อไปและจะไม่กระทบกับเครดิตเรตติ้งของประเทศ
2.รายได้ที่เพิ่มจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มที่คาดว่าได้รับเพิ่มเติมจากมาตรการเงินดิจิทัล ประมาณ 100,000 ล้านบาท
3.การปรับลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพจากงบประมาณปี 2567 ส่วนอื่นอีกประมาณ 110,000 แสนล้านบาท
4.การดึงเงินงบประมาณเหลือจ่ายในปี 2566 ที่หน่วยราชการเบิกจ่ายไม่ทันกับการปรับลดเงินสวัสดิการที่ซ้ำซ้อนมาใช้จ่ายในโครงการนี้แทน 90,000 ล้านบาท
เริ่มโครงการช้าดันจีดีพีน้อยลง
แหล่งข่าว กล่าวว่า จากการประเมินมูลค่าเศรษฐกิจที่จะเกิดกับโครงการนี้จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นจะใช้ตัวเลขในการคำนวณเศรษฐกิจ 3.6 แสนล้านบาท เนื่องจากต้องปรับลดวงเงินบางรายการที่ลดลงจากการเกลี่ยงบประมาณจากโครงการอื่นๆที่ลดลงประมาณ 2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้การประเมินตัวคูณทางการคลัง (Multiplier) จากนโยบายนี้อยู่ที่ประมาณ 0.4 -0.7 เท่า ทำให้ผลกระทบต่อจีดีพีคิดเป็น 0.8-1.3% ของจีดีพี ในปี 2567 หรืออาจจะเป็น 0.6 -0.98% ของจากโครงการหากโครงการนี้เริ่มได้ล่าช้ากว่าไตรมาสที่ 1 ในปี 2567 ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงจากเดิมที่ประเมินไว้
ก่อนหน้านี้นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตามที่มีข้อเสนอมาจากหลายฝ่ายก็พร้อมรับฟัง อย่างในเรื่องเงื่อนไขรายได้ ซึ่งก็ได้มีการให้อนุกรรมการไปพิจารณาเกี่ยวกับเงื่อนไขสำหรับกลุ่มคนที่ควรได้รับการเติมเงิน เช่น หลักเกณฑ์การดูว่าคนรวยเป็นอย่างไร เช่น ควรดูที่เงินฝาก ที่ดิน หรือการเสียภาษี อย่างไรก็ดี โครงการนี้จะไม่ได้ดูเรื่องความรวยหรือจน เพราะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่โครงการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนยากจน แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ มุมมองการใช้จ่ายของคนที่มีรายได้สูงจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ หรือเพียงเอาเงินไปออมแทน