"เศรษฐา" สั่งจับตา สงครามอิสราเอล-ฮามาส หวั่นขยายวงกระทบเศรษฐกิจไทย

"เศรษฐา" สั่งจับตา สงครามอิสราเอล-ฮามาส หวั่นขยายวงกระทบเศรษฐกิจไทย

“เศรษฐา”สั่งเกาะติดผลกระทบเศรษฐกิจจากสถานการณ์สู้รบอิสราเอล-ฮามาส “สศช.”จับตาประเด็นสงครามขยายวงหรือไม่ “คลัง” ห่วงราคาพลังงานพุ่ง ยืนยันลดภาษีดีเซลต่อ “จุลพันธ์” เชื่อรัฐบริหารได้หลังเก็บภาษีเกินเป้า “พลังงาน” มั่นใจสต๊อกน้ำมันพอ ชี้ราคาขึ้นกับทิศทางตลาดโลก

สถานการณ์การสู้รบในอิสราเอลระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566 จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน ซึ่งรวมผลกระทบดังกล่าวครอบคลุมถึงคนไทยที่ทำงานในอิสราเอล และมีผู้แจ้งความประสงค์เดินทางกลับไทย 8,000 คน

ขณะที่บรรยากาศเศรษฐกิจโลกเกิดความตึงเครียดและข้อกังวลว่าสงครามจะขยายวงมากขึ้นจนเป็นสงครามใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งอาจกระทบเศรษฐกิจโลกและกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังได้สั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจติดตามสถานการณ์การสู้รบดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบของสงครามครั้งนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร โดยสถานการณ์ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในการประมาณการความเสี่ยงที่ สศช.จัดทำไว้ในปี 2566 

ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจครั้งนี้คล้ายที่ สศช.เคยจัดทำรายงานประเมินผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยจะนำรายงานผลกระทบสงครามครั้งนี้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) วันที่ 8 พ.ย.2566

ในเบื้องต้นมองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้อยู่ที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังไม่มากเหมือนช่วงเกิดเหตุการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติและปุ๋ยพุ่งสูงขึ้นจนกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

“สิ่งที่ต้องจับตาดูในสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสครั้งนี้ คือ สงครามจะขยายวงออกไปหรือไม่ แล้วถ้าขยายวงจะมีประเทศที่เข้ามาร่วมกับทั้ง 2 ฝ่ายมากขนาดไหน เพราะหากมีการขยายวงของสงครามออกไปมากจะกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้มาก แต่หากสงครามไม่ขยายวงไปมากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้นไม่มาก”นายดนุชา กล่าว

\"เศรษฐา\" สั่งจับตา สงครามอิสราเอล-ฮามาส หวั่นขยายวงกระทบเศรษฐกิจไทย

“คลัง”จับตาผลกระทบ3ประเด็น

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังประเมินสถานการณ์ผลกระทบเศรษฐกิจจากสงครามในอิสราเอล

ทั้งนี้แม้กระทรวงการคลังจัไม่มีส่วนงานที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยตรง แต่มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทย รวมถึงผลกระทบต่อราคาน้ำมัน โดยตอนนี้ข้อห่วงใยมี 3 ข้อ ได้แก่

1.สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวจะยืดเยื้อหรือไม่ 

2.ปัญหาดังกล่าวจะลุกลามกลายเป็นปัญหาภูมิภาคหรือไม่ 

3.เสถียรภาพราคาพลังงานโลก 

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดจะกระทบต่อไทยระดับหนึ่ง เพราะเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางพอสมควร ถึงแม้การบริโภคจะเพิ่มขึ้น แต่การที่เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตสูงส่งผลให้ขึ้นดอกเบี้ยสูง และทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ระดับ 2.50% ต่อปี ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยพุ่งขึ้นสู่ระดับ 0.3% ซึ่งอาจส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัว ดังนั้น ผลกระทบจากสงครามที่อาจลุกลามยังต้องวิเคราะห์ใกล้ชิด

ส่วนกรณีที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงมากนั้น ทางกระทรวงการคลังไม่ได้เข้าไปแทรกแซงเรื่องนี้ และติดตามอยู่ดูใกล้ชิด แต่สิ่งที่กระทบแน่นอนคือ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทย และอเมริกาทำให้เงินทุนไหลออกทั้งตลาดหลักทรัพย์ และตลาดพันธบัตร รวมถึง ความไม่มั่นคงสถานการณ์อิสราเอล และฮามาสด้วย

ในขณะที่การดูแลราคาพลังงานในประเทศนั้น มีข้อเสนอให้กระทรวงการคลังต่ออายุภาษีน้ำมันดีเซลและลดภาษีน้ำมันเบนซิน ซึ่งประเด็นนี้หากลดภาษีต่อจะกระทบการจัดเก็บรายได้แน่นอน แต่เชื่อว่าถ้ามีเป็นความจำเป็นรัฐบาลบริหารจัดการได้ และตอนนี้รัฐบาลเก็บภาษีได้เกินเป้าหมายแล้ว จึงไม่น่ากระทบกับตัวเลขจัดเก็บช่วงปลายปี

\"เศรษฐา\" สั่งจับตา สงครามอิสราเอล-ฮามาส หวั่นขยายวงกระทบเศรษฐกิจไทย

“พลังงาน”ยืนยันสต๊อกน้ำมันเพียงพอ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ราคาที่ไทยนำเข้าถือเป็นราคาตลาดโลก ซึ่งในภาวะสงครามต้องดูว่าระยะเวลาจะจบตรงไหน และไทยสต๊อกน้ำมันไว้กว่า 60 วัน จึงไม่น่ากังวลอะไร

“โครงสร้างราคาน้ำมันในไทยไม่ได้อยู่ที่สงคราม แต่อยู่ที่ราคาโรงกลั่นที่เหวี่ยงมากกว่าราคาตลาดโลก อาทิ ภาษี ค่าการกลั่นและค่าการตลาด ซึ่งราคาหน้าโรงกลั่น คือ ราคาอ้างอิงเริ่มต้น คือ ต้นทุนผู้ประกอบการและต้นทุนค่าการกลั่น จึงต้องศึกษาว่าต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบ เฉลี่ยออกมาเท่าไหร่ แล้วมาดูค่าใช้จ่ายและกำไรที่ได้รับ และแยกกำไร รายได้ให้ชัดเจนของโรงกลั่นและสถานีบริการ”

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเฝ้าระวังราคาน้ำมันและราคาเชื้อเพลิงใกล้ชิด ขอประชาชนไม่ต้องกังวลว่าน้ำมันขาดแคลนเพราะปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 70 วัน แบ่งเป็นสำรองในประเทศ 45 วัน ปริมาณ 3,910 ล้านลิตร และปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 25 วัน ปริมาณ 2,180 ล้านลิตร โดยปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางประมาณ 57% และในส่วนของ LNG นำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 33% จากหลากหลายแหล่ง

แหล่งข่าวจากผู้ค้าน้ำมัน กล่าวว่า ผู้ค้าน้ำมันยังต้องติดตามทิศทางราคาน้ำมันภายใต้ปัญหาสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ว่าจะยืดเยื้อบานปลายขนาดไหน ซึ่งความรุนแรงที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้เสี่ยงลุกลามกลายไปเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาคระหว่างประเทศตะวันออกกลางและอิสราเอล เพราะกลุ่มฮามาสมีพันธมิตรระดับภูมิภาคจำนวนมาก รวมถึงอิหร่าน ซีเรียและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศตะวันออกกลาง และการสนับสนุนอิสราเอล

“มองว่าหากเกิดความขัดแย้งบานปลายมากขึ้นเท่าไหร่ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชากรทั้งโลก เพราะประเทศตะวันออกกลางถือเป็นกลุ่มประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันสำคัญของโลก และเป็นผู้คุมเส้นทางการส่งออกน้ำมัน และอาจส่งผลต่อแรงกดดันด้านอุปทาน และทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น แม้ว่าขณะนี้ ความขัดแย้งจะยังถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ของอิสราเอลและปาเลสไตน์ นัแต่ก็มีโอกาสลุกลามได้”