มองเศรษฐกิจผ่านมุมมอง ‘ประธานTDRI’ ทำอย่างไร ให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

มองเศรษฐกิจผ่านมุมมอง ‘ประธานTDRI’  ทำอย่างไร ให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ประเทศไทยมีเป้าหมายในการหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) ไปสู่การเป็น “ประเทศรายได้สูง” ภายในปี 2580 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

อย่างไรก็ตามการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ประเทศไทยจำเป็นต้องมี “โมเดลใหม่” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศให้เติบโตต่อเนื่องได้ในระยะยาว

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าในวันนี้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะเติบโตร้อนแรงเหมือนกับเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าดูตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจย้อนหลังเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา และมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยก็ไม่น่าจะเติบโตได้เร็วมาก คือเศรษฐกิจอาจจะโตได้ 3% หรือมากกว่า 3% เล็กน้อย

การเติบโตในระดับนี้หากเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หรือเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็เป็นตัวเลขที่ยอดเยี่ยมแล้ว แต่ของไทยเราเป็นประเทศรายได้ปานกลางที่ควรจะเติบโตได้มากกว่านี้ หากมองไปรอบๆบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเราก็จะเจอกับประเทศที่เติบโตได้เกิน 6% อย่างเช่นเวียดนาม และกัมพูชา รองลงมาก็คือการเติบโตของอินโดนิเซีย และมาเลเซีย โดยกรณีของอินโดนิเซียนั้นรายได้ต่อหัวประชากรนั้นต่ำกว่าประเทศไทย แต่มาเลเซียนั้นรายได้ต่อหัวประชากรต่ำกว่าเรา โดยสรุปแล้วศักยภาพในการเติบโตของไทยเราเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียนไม่สูงอย่างที่ควรจะเป็น

“หากประเทศไทยไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ก็ยากที่ประเทศไทยจะมีเศรษฐกิจที่เติบโตได้มากๆ เราก็จะเติบโตได้ 3%หรือมากกว่า 3% เล็กน้อยต่อไปเรื่อยๆ ตัวเลขนี้หมายความว่าหากคนที่ทำธุรกิจแล้วต้องการเห็นธุรกิจของไทยเติบโตได้ปีละ 10% การทำธุรกิจอยู่ในไทยอย่างเดียวก็จะยากแล้วเพราะถูกจำกัดการเติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศ”

มองเศรษฐกิจผ่านมุมมอง ‘ประธานTDRI’  ทำอย่างไร ให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

เปรียบเศรษฐกิจไทยเหมือนรถติดหล่ม

หากให้เปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยกับอะไรสักอย่าง อาจจะเปรียบเทียบกับ “รถที่กำลังติดหล่ม” หล่มแรกคือ “หล่มทางการเมือง” การที่ติดหล่มนี้ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้นทำไม่ได้ และวัฏจักรความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ความขัดแย้งยาวนาน ตัวนี้แม้ว่าไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจไทยพังไปเลย แต่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องยาวนานนั้นทำไม่ได้เพราะอะไรที่ต้องการการวางแผนระยะยาวแล้วทำต่อเนื่องก้าวผ่านระบบรัฐที่อ่อนแอนั้นทำยาก

อีกหล่มที่ประเทศไทยติดอยู่และมีความสำคัญคือในเรื่องของ “โครงสร้างประชากร” นี่คือสาเหตุที่ทำให้ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยไม่ได้สูง เพราะสังคมไทยไม่ใช่สังคมที่เป็นแรงงานเหลือพอที่จะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งค่ายตะวันตกและจีนมีความขัดแย้งกันมากขึ้นทุกวันทำให้เกิดโอกาสมากมายจากการย้ายฐานการผลิตจากจีนลงมาในอาเซียน ซึ่งมาลงทุนในไทยด้วยแต่ไม่ใช่ลงทุนในไทยมากที่สุดแต่ไปลงทุนในเวียดนาม อีกประเทศที่ไปลงทุนมากก็คืออินโดนิเซีย จึงไม่เหมือนกับในอดีตที่ไทยได้ประโยชน์จากนโยบายนี้

โดยไทยเคยอยู่แถวหน้าของอาเซียนในช่วง 30 ปีก่อน และ 30 ปีที่แล้วโครงสร้างเศรษฐกิจ ประชากรของเราเอื้อให้เราเป็นแถวหน้า เมื่อเราวางจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดีเราก็รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย เราสามารถตักตวงประโยชน์ได้

วันนี้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์คล้ายๆเดิมแต่ความพร้อมของประเทศไทยไม่ดีเท่าเดิมทำให้ประเทศอื่นที่มีควาพร้อมกว่าเช่นประเทศเวียดนามได้ประโยชน์ในส่วนนี้และสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด และหากคำนวณอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามเปรียบเทียบกับไทยอีก 20 ปี เวียดนามจะมีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับประเทศไทยหรือว่าแซงไทยได้หากไทยยังเป็นเหมือนเดิมไปเรื่อยๆโดยไม่ขยับอะไร

 

“การจะก้าวผ่านหล่มได้ โดยธรรมชาติเครื่องยนต์ต้องมีพลังมาก มีแรงม้าเยอะถึงจะสามารถขับเคลื่อนและดันตัวรถให้ขึ้นพ้นจากหล่ม ซึ่งหล่มไม่เหมือนกับหลุมดำเพราะหลุมดำนั้นไม่มีอะไรขึ้นมาจากหลุมดำได้แม้กระทั่งแสงเพราะเกิดแรงดึงดูดมหาศาล ประเทศไทยไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกขนาดที่หลุดเข้าไปในหลุมดำ แต่เราต้องการเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเป็นเหมือนโฟร์วีลไดรฟ์ที่ขับเคลื่อนได้เต็มที่เพื่อที่จะทำให้ประเทศ และเศรษฐกิจของเราขึ้นจากหล่มได้”

มองเศรษฐกิจผ่านมุมมอง ‘ประธานTDRI’  ทำอย่างไร ให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

แนะสร้างแรงเคลื่อนเศรษฐกิจจากเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่ง

นายสมเกียรติกล่าวต่อว่าการจะทำให้ประเทศไทยขึ้นจากหล่มได้ ต้องอาศัย “ล้อ” ที่มีที่แข็งแรงคือโดยตอนนี้ล้อที่แข็งแรงของไทยคือ บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ไหนแต่ไรมาภาคธุรกิจของเรามีความสามารถมีความพร้อม การเมืองจะอยู่อย่างไรเขาอยู่ได้ เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไรเขาก็อยู่ได้ และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ธุรกิจขนาดใหญ่จึงเป็นล้อที่ขับเคลื่อนได้ดีของประเทศ

ส่วนล้อที่ยังขับเคลื่อนได้ไม่ดีคือแรงจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งส่วนนี้ไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะทดแทนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้หากเศรษฐกิจประเทศเกิดปัญหา ซึ่งบางประเทศมีภาคเอสเอ็มอีที่เก่งมากขับเคลื่อนประเทศไปได้ อย่างประเทศไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้  

แนะเร่งแก้ปัญหาการเมือง - ระบบราชการ 

นอกจากนั้นยังมีล้ออีก 2 ล้อที่ไม่ได้ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้เท่าที่ควรได้แก่  “ภาคการเมือง” โดยภาคการเมืองน่าจะเป็นส่วนที่ขับเคลื่อนประเทศได้ แต่ในทางที่เป็นรูปธรรม แต่ตอนนี้ภาคการเมืองยังไม่ได้มีบทบาทที่ชัดเจนในเรื่องนี้

อีกส่วนที่เป็นระบบรัฐคือ “ระบบราชการ” ที่เป็นประเด็นมานาน ซึ่งจริงๆแล้วหากการเมืองดีก็จะมาช่วยขับเคลื่อนในส่วนนี้ไปได้ด้วย แต่เมื่อการเมืองเข้มแข็งมีศักยภาพก็สามารถที่จะผลักดันล้อที่เป็นระบบราชการได้แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นการขับเคลื่อนในส่วนนี้ชัดเจน

แนะสร้างการลงทุนต่อเนื่อง 

นโยบายเศรษฐกิจที่จะทำให้ล้อของประเทศแข็งแรงคือจำเป็นที่ต้องเพิ่ม “การลงทุน” โดยลงทุนที่ดีไม่ใช่มาจากการการกระตุ้นการบริโภค เพราะการกระตุ้นการบริโภคเป็นการตอบโจทย์ทางการเมืองในการระดมคะแนนเสียง ซึ่งตอบโจทย์ทางการเมืองได้แค่ไหนก็ต้องย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้ง เพราะพรรคเพื่อไทยได้หาเสียงเรื่องการแจกเงินดิจิทัลมาตั้งแต่แรก แต่คะแนนเสียงก็ออกมาแบบก้ำกึ่งไม่ได้ชนะขาดเท่ากับว่าผลตอบรับไม่ได้ดีมาก

โดยต้องทำต่อเนื่อง 5 – 10 ปี ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว เช่นเดียวกับการลงทุนในระบบราชการที่จะต้องทำให้ระบบราชการเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศให้ได้ เพราะระบบราชการคือกลไกสำคัญที่จะนำเอานโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติหากไม่สามารถปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบราชการไทยให้มีความเข้มแข็งได้นโยบายต่างๆก็จะไม่เกิดผลดีต่อประเทศ

“ประเทศไทยวันนี้จึงเหมือนเป็นรถที่มีล้อเดียวที่ขับเคลื่อนไปคือธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดใหญ่เห็นว่าอีก 3 ล้อ คือเอสเอ็มอี การเมือง และราชการไม่ได้หมุนไปอย่างดี การขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศไทยก็คงยาก ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ก็จะไปลงทุนต่างประเทศ ดังนั้นหากอยากจะออกจากหล่มได้ประเทศไทยต้องเป็นรถที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วย 4 ล้อจึงจะสามารถที่จะหลุดออกจากหล่มได้ และอาจเป็นความหวังให้เราหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้” นายสมเกียรติ กล่าว 

นอกจากนี้ประเทศไทยยังต้องใช้จุดแข็งของประเทศเราเองให้สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ โดยเฉพาะในส่วนของประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งในการรับระบบการผลิตและเรียนรู้การทำธุรกิจจากต่างประเทศนั้นเรามีประสบการณ์สามารถผลิตสินค้าที่ต้นทุนไม่สูงมาก มีคุณภาพที่ดี และส่งมอบสินค้าได้ตรงเวลา เป็นการผลิตแบบ รีน จากญี่ปุ่นมา ซึ่งตรงนี้เราต้องต่อยอดให้กรีนซึ่งมีจุดขายที่ดีของไทย โดยเรามีการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าน้อย เพียงแค่ 19% ที่เหลือเป็นการผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งมีการใช้มาก และมีพลังงานหมุนเวียนที่มากขึ้น ซึ่งต้องผลักดันไปสู่พลังงานสีเขียวให้มากขึ้นเพื่อดึงอุตสาหกรรมที่ต้องการพลังงานสะอาดเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย

นอกจากนั้นประเทศไทยต้องต่อยอดการผลิตสินค้าที่ใช้นวัตกรรมที่สูงขึ้น โดยขณะนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ที่เริ่มคิดค้นนวัตกรรมเอง และไปซื้อกิจการที่มีนวัตกรรมสูงมาทำให้เกิดนวัตกรรมได้ ซึ่งจะเป็นทางออกให้อุตสาหกรรมและธุรกิจของเราอยู่ได้แม้ว่าโครงสร้างประชากรจะไม่เอื้ออำนวย ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศได้เช่นกัน