'ทีดีอาร์ไอ' ห่วงเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า - แนะ 7 ข้อเสริมแกร่ง - สร้างอนาคต
“ทีดีอาร์ไอ” ชี้เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทาย แนะไทยลดความเสี่ยงพึ่งพาเศรษฐกิจจีน หลังโควิด-19 บทบาทจีนในตลาดโลกอาจลดลง จากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ แนะ 7 ข้อไทยแสวงหาโมเดลการเติบโตในอนาคต
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ (TDRI) กล่าว ในหัวข้อ “The Risk and Opportunity โอกาส ก้าวข้ามความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย 2024” ในงาน “Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” วันนี้ (4 ต.ค.66) ว่าในการคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีปัญหามายาวนาน และเมื่อมองไปยังอนาคตก็มีความท้าทายอยู่มากที่จะสร้างการเติบโตในระยะต่อไปเพราะว่าจำนวนแรงงานของไทยลดลง และเข้าสู่งสังคมสูงวัย
ทั้งนี้เมื่อไทยมีจำนวนแรงงานที่ลดลงทำให้เป้าหมายในเรื่องเศรษฐกิจของไทยในการออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ยากขึ้น และใช้เวลามากขึ้น โดยหากดูจากในเรื่องของมิติตัวชี้วัดรายได้ต่อหัวประชากร (GNI per capita) ซึ่งเป้าหมายที่ไทยได้ตั้งไว้ว่าจะไปสู่ประเทศการเป็นรายได้ระดับสูงนั้นไทยเราเดินไปได้แค่ 54.8% ของเป้าหมายเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมา 10 ปี เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยได้ 3% ต่อปี ซึ่งหากยังเติบโตในระดับนี้ต่อไปกว่าที่จะทำให้เป้าหมายเดิมที่จะบรรลุการเป็นประเทศรายได้ระดับสูงในปี 2043 แต่จะถูกขยับไปในปี 2048
ขณะที่เวียดนามประกาศจะบรรลุเป้าหมายได้ในปี 2050 สะท้อนว่าเรากำลังล้าหลัง และถูกจับคู่กับประเทศที่เคยอยู่ข้างหลังเรามากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ในการที่จำนวนแรงงานที่ลดลงทำให้รายได้เฉลี่ยที่แท้จริงของไทย หลังจากหักรายได้ของคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และรวมรายได้คนไทยในต่างประเทศ พบว่ารายได้ที่แท้จริงของคนไทยขาดดุลอยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท
ขณะที่การฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจในแต่ละครั้งประเทศไทยฟื้นตัวได้ช้า และมีการเติบโตเศรษฐกิจลดลง เช่น การผ่านวิกฤติโควิด-19 ล่าช้า และเต็มไปด้วยบาดแผล ได้แก่ การเกิด หนี้ครัวเรือน หนี้ ธุรกิจ และหนี้ภาครัฐ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้ภาคครัวเรือน ธุรกิจ และภาครัฐต่างมีหนี้ที่สูงกว่าเดิมมาก ขณะที่ภาครัฐมีกระสุนน้อยลง และการดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นเรื่องระยะสั้นก็จะกระทบจุดที่เกิดต้นทุนเชิงนโยบายที่สูง
ขณะที่หลังโควิด-19 การพึ่งพาเศรษฐกิจบางประเทศที่ไทยเคยพึ่งพาได้ เช่น เศรษฐกิจจีนจะพึ่งพาได้น้อยลง เนื่องจากว่าจีนอาจจะไม่ได้มีบทบาทเข้ามาช่วยในการผลิตของโลกมากในจังหวะมีปัญหาเศรษฐกิจภายในจริง และคาดว่าจีนต้องใช้เวลาหลายปีในการแก้ปัญหานี้ รวมทั้งปัญหาเรื่องของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
แนะ 7 ข้อสร้างโอกาสเศรษฐกิจไทย
นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอกล่าวด้วยว่าโอกาสของประเทศไทยที่ควรทำมี 7 เรื่อง ได้แก่
1.เพิ่มมาร์เก็ตแชร์ของผู้ส่งออกรายใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยมีตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น
2.ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ว่าเราควรใช้ประโยชน์ให้ได้จากมหาอำนาจทั้งสองทางจริงๆ และหาข้อได้เปรียบจากการเจรจา
3.การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ให้ได้ประโยชน์กับเศรษฐกิจจริงๆ วางแผนว่าจะผลักดันอย่างไร
4.ใช้ประโยชน์จากการขยายการคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีของจีน อย่างเช่น การเชื่อมต่อสินค้าของไทยไปขายในจีนผ่านรถไฟจีน-ลาว
5.แสวงหาจุดหมายปลายทางใหม่ว่าจะหาความร่วมมือในระเบียบโลกใหม่ๆ และจะวางบทบาทประเทศไทยในเรื่องความร่วมมือนานาชาติได้อย่างไร
6.ใช้ประโยชน์ต่อเนื่องจากนโยบายที่มีประโยชน์ เช่น BCG การพัฒนาอย่างยั่งยืน
และ 7.มุ่งไปสู่การผลิตสินค้า อุตสาหกรรมใหม่ที่ตรงกับความต้องการของโลก เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์