กรมวิชาการเกษตร ลุยปราบปุ๋ย ชีวภัณฑ์ ผิดกฎหมาย
กรมวิชาการเกษตร ส่งสารวัตรเกษตรไซเบอร์ เร่งกวาดล้าง ปุ๋ยเถื่อน ชีวภัณฑ์ ผิดกฎหมาย
พร้อมเปิดศูนย์รับแจ้งเบาะแส เพิ่มสายด่วน 1174 ล่าสุด ที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงนี้สารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้รับการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการหลอกขายปุ๋ย และวัตถุอันตรายทางการเกษตรปลอมมากกว่าในช่วงเวลาอื่นๆ เนื่องจากเกษตรกรมีความต้องการใช้ทั้งปุ๋ย และวัตถุอันตรายทางการเกษตรป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช จึงทำให้มีผู้ฉวยโอกาสผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตปลอมไม่ได้มาตรฐานมาหลอกขายเกษตรกร ซึ่งร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน มุ่งปราบปรามสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง
ดังนั้นจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรกรมวิชาการเกษตรทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ออกตรวจสอบให้มากขึ้น หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ได้รับรายงานว่า นางสาวจงรัก อิ่มใจ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 นายนิสิต บุญเพ็ง ผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมพระราชบัญญัติ สวพ.1 นายธรรมรัตน์ ทองมี ผู้อำนวยการกลุ่มสารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร พร้อมเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรไซเบอร์ ได้เข้าไปบุกจับปุ๋ยเคมีและวัตถุอันตรายผิดกฎหมาย โดยการเข้าตรวจสอบสถานที่ดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)
จากการปฏิบัติการลงพื้นที่ปราบปรามสถานที่จำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรตามที่ได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ มีการจำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจากการตรวจอบของเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรพบมีจำนวน 2 รายการ ดังนี้
1. ปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียน จำนวน 31 ลิตร มีความผิดตามมาตรา 30(5) ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ย ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ มีโทษตามมาตรา 72 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทหนึ่งแสนสองหมื่นบาท ตาม พ.ร.บ ปุ๋ย 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 (ชีวภัณฑ์) จำนวน 40 ลิตร มีความผิดตามมาตรา 45(4) ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ มีโทษตามมาตรา 79 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร ได้เก็บตัวอย่าง 2 รายการส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งอายัดของกลางทั้งหมด
" การเลือกซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตรต้องซื้อสินค้าที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจากกรมวิชาการเกษตร อ่านฉลาก ดูชื่อสามัญ ตรวจดูวันที่ผลิตต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี สภาพภาชนะบรรจุไม่เก่า ไม่เสื่อม ภาชนะบรรจุไม่รั่วไหล ไม่แบ่งขายหรือถ่ายลงภาชนะอื่น ไม่ซื้อสินค้าที่อ้างว่าเป็นสูตรพิเศษ หรือราคาถูก ส่วนการเลือกซื้อปุ๋ย ภาชนะหรือกระสอบปุ๋ยต้องใหม่ ไม่มีรอยฉีกขาดหรือเย็บใหม่
และควรซื้อจากผู้ขายที่มีใบอนุญาตขายปุ๋ยเท่านั้น ไม่ควรซื้อปุ๋ยจากพ่อค้าเร่ โดยขอเอกสารกำกับปุ๋ยและใบเสร็จรับเงินจากผู้ขายทุกครั้ง ฉลากปุ๋ยต้องจัดเจน และมีรายละเอียดของปุ๋ยแต่ละประเภทถูกต้องครบถ้วน อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจควรเลือกซื้อสินค้าจากร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพที่ได้รับเครื่องหมาย Q shop"
กรมวิชาการเกษตรให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากผู้ที่มีเจตนาจะเอาเปรียบหลอกขายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงได้เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์ให้เกษตรกรหรือผู้ที่ทราบเบาะแสสามารถแจ้งได้ทันทีหากพบรถเร่ขายที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย หรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการผลิตหรือจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ โดยสามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับแจ้งเบาะแสปัจจัยการผลิตปลอม ไม่ได้มาตรฐาน กรมวิชาการเกษตร สายด่วน 1174 เพื่อจะได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรเข้าไปดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป