กรมวิชาการเกษตร ลุยคุ้มครองพันธุ์พืช-ปกป้องสิทธินักปรับปรุงพันธุ์
กรมวิชาการเกษตร ลุยคุ้มครองพันธุ์พืช-ปกป้องสิทธินักปรับปรุงพันธุ์
นางสาวธิดากุญ แสนอุดม ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานหนึ่งในกรมวิชาการเกษตร ก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับงานภารกิจของกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1.พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และ ฉบับ 2. พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพันธุ์พืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 โดยสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช มีภารกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืช ให้สิทธิ์กับผู้คิดค้นพัฒนา ผู้ปรับปรุงพันธุ์ และสิทธิของชุมชน กำกับดูแลการเข้าถึงและใช้ประโยชน์พืชพันธุ์พื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่าของประเทศ ส่วนที่ 2 กำกับดูแลการค้าพืชอนุรักษ์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยเป็นภาคี และ 3. สุดท้ายเรื่องการศึกษาวิจัย สำรวจ และรวบรวมข้อมูลด้านพฤกษศาสตร์อนุกรมวิธานพืช และให้บริการพิพิธภัณฑ์พืช
ในด้านการคุ้มครองพันธุ์พืช แบ่งพืชออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ พันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเรื่องนี้กฎหมายจะส่งเสริม กระตุ้น สร้างความมั่นใจ ให้มีการลงทุนคิดค้นพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ ออกมา โดยให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ทำให้เจ้าของพันธุ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการขาย จำหน่าย ส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครอง พันธุ์พืชกลุ่มที่ 2 พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ก็จะให้สิทธิกับชุมชนในการจะบริหารจัดการดูแลพันธุ์พืชที่มีเฉพาะในชุมชนเท่านั้น และกลุ่มพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่า ซึ่งหลักการตามกฎหมายถือว่าเป็นของรัฐ รัฐมีหน้าที่บริหารจัดการดูแลในการนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ ศึกษาทดลอง หรือวิจัย เพื่อประโยชน์ในทางการค้า จะต้องได้รับอนุญาตและมีการทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์เข้าสู่กองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อสนับสนุนด้านการอนุรักษ์พันธุ์พืชของชุมชนท้องถิ่นต่อไป
นางสาวธิดากุญ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศให้พืช 103 ชนิด สามารถยื่นขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้ ซึ่งครอบคลุมพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในทั้ง 6 กลุ่ม พืชไร่ พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ผลไม้ยืนต้น พืชใช้เนื้อไม้ และกลุ่มเห็ด ได้แก่ เห็ดถั่งเช่าสีทอง และเห็ดร่างแห ดังนั้นหากคิดค้นพัฒนาพันธุ์ใหม่ได้ก็สามารถยื่นจดคุ้มครองได้โดยเกษตรกร นักปรับปรุงพันธุ์ หรือผู้ประกอบการที่ได้มีการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จนได้เป็นพันธุ์ใหม่ออกมามีลักษณะสำคัญแตกต่างจากพันธุ์อื่น และต้องยังไม่ขายส่วนขยายพันธุ์เป็นระยะเวลา 1 ปี ก่อนวันยื่น เช่น หากขายพันธุ์มาแล้ว 5 ปี ก็จะมายื่นขอจดไม่ได้ และนอกจากนั้นจะต้องมีการปลูกตรวจสอบคุณสมบัติที่ต้องแตกต่างจากพันธุ์อื่น มีความคงตัวทางพันธุกรรม สม่ำเสมอมองไปจะต้องหน้าตาเหมือนกัน ที่สำคัญเกษตรกรนำไปปลูกจะต้องคงลักษณะเดิมที่ได้จดทะเบียนไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร และสิ่งที่ได้โดยตรงก็คือ “นักปรับปรุงพันธุ์” จะได้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิตขายหรือจำหน่าย นำเข้า ส่งออกส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง จะมีรายอื่นมาขยายขายไม่ได้ แต่ถ้านำไปปรับปรุงพันธุ์ต่อยอดสามารถกระทำได้ ถือเป็นข้อยกเว้นสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ เพราะกฎหมายต้องการที่จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ ต่อยอดต่อไป
“เมื่อได้รับการจดทะเบียนฯ แล้ว อายุการคุ้มครองจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่พืชสามารถให้ผลผลิตได้ ยกตัวอย่างเช่น พันธุ์ข้าว พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับบางชนิด ให้ผลผลิตได้ภายใน 2 ปี กฎหมายให้การคุ้มครอง 12 ปี หากเป็นพืชที่ให้ผลผลิตได้ภายในระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี เช่น กลุ่มไม้ยืนต้น ให้ 17 ปี และสำหรับพืชใช้เนื้อไม้ เช่น ยูคาลิปตัส สัก กระถินณรงค์ เป็นต้น ให้มีความคุ้มครองได้ 27 ปี โดยตลอดระยะเวลาการคุ้มครองในทุกปี ผู้ทรงสิทธิ์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับการคุ้มครองด้วย และที่สำคัญเจ้าของพันธุ์จะต้องรักษาพันธุ์ของตัวเองให้มีลักษณะประจำพันธุ์ตามที่ได้จดทะเบียนไว้”
สำหรับผู้ที่สนใจจะจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เบื้องต้นขอให้ตรวจสอบรายชื่อพืชก่อน หากเป็นชนิดพืชที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อ 103 รายการ ให้ส่งหนังสือแจ้งความประสงค์ที่จะยื่นขอจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่มาถึงอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อกรมวิชาการเกษตร จะได้ดำเนินการนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชพิจารณาตามลำดับ เมื่อคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชเห็นชอบแล้วจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นชนิดพืชที่สามารถยื่นขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคุ้มครองพันธุ์พืช โทรศัพท์ 02-940-7214