'GC' ชี้ ธุรกิจปิโตรฯ ผ่านจุดต่ำสุด หวั่นสงครามใน 'อิสราเอล' ฉุดกำลังซื้อ
"GC" ระบุ ธุรกิจปิโตรเคมี ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่เหนื่อยทั้งโลก จับตาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ป่วนความกังวล ฉุดกำลังซื้อ
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวในงานประชุมระดับโลก “GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S” ที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2566 ถึงภาพรวมการดำเนินธุรกิจในรอบปีที่ผ่านมา
โดยธุรกิจปิโตรเคมีได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาส2 ที่เหมือนกันทั้งโลก รวมถึงตะวันออกกลาง (Middle East) บางตัวก็ดีขึ้นบางตัวต้องใช้เวลา เป็นเรื่องของดีมานด์และซัพพลาย บางคนบอกน้ำมันจะลดลด ซึ่ง GC จะขยายธุรกิจที่ทำให้องค์กรเติบโต เช่น Allnex เข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จะต้องจับตาสงครามในอิสราเอลที่อาจทำให้ตลาดไม่ค่อยมั่นใจในการซื้อ ซัพพลายเชนทั่วโลกมีความเสี่ยงถึงวัตถุดิบต่าง ๆ ทำให้คนไม่มั่นใจและเก็บเงิน บางคนก็เอาไปซื้อทองแทน และต้องระมัดระวังการลงทุน ซึ่ง GC มีการบริหารความเสี่ยงในทุกเรื่องอยู่แล้ว แต่ก็จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
อีกทั้ง จะต้องดูว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง จีน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี แต่อาจจะต้องรอซึ่งต้องใช้เวลาในการเคลื่อนตัวเพราะเป็นตลาดใหญ่ โดยเฉพาะการแกัปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีจุดเปราะบาง ดังนั้นจะต้องดูว่าในช่วง 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ ทิศทางการนำเข้าจะเป็นอย่างไร
"เรามีการสต็อกน้ำมันในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งไม่เยอะมาก เพราะหากเก็บมากก็มีความเสี่ยง และเก็บน้อยก็ไม่พอ ซึ่งยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่เหนื่อย เพราะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบทั่วโลก มีทั้งตัวที่ทำรายได้ดีและไม่ดี ความโชคดีคือเรามีพอร์ตโฟลิโอที่กระจาย"
สำหรับงบประมาณลงทุนปีนี้ ยังคงลงทุนตามเป้าหมาย เพราะว่าการลงทุนอาจไม่เท่าที่คิดไว้ เนื่องจากเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาปัญหาแทรกแซงมากมาย อาทิ โควิด และภูมิรัฐศาสตร์ จึงมีการลงทุนที่ปรับประสิทธิภาพและเพื่อให้ได้กำไรกลับมา จึงต้องเลือกโครงการที่จะลงทุน
สำหรับโรงงานรีไซเคิลในกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม GC ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Circular economy ที่เป็นหัวใจหลักของความยั่งยืน และขยายธุรกิจลดการปลดปล่อยคาร์บอน การรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงพอร์ตโฟลิโอ เร่งการเติบโตไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนโดย 1.ความพิเศษและประสิทธิภาพของเคมีภัณฑ์ 2.ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 3.การรีไซเคิล
"โรงงานรีไซเคิลทุกโรงงานที่ทำใหม่ถือว่าเริ่มมีรายได้และกำไรมากขึ้น ต้องเข้าใจว่าช่วงแรก ๆ จะขาดทุน จึงต้องมีความกล้าที่จะทำ จึงเชื่อว่าจะขยายได้ดี และจะขยายต่อไป ทั้งในรูปแบบช่วยส่งเสริมการรีไซเคิลในชุมชน และสามารถนำพลาสติกมาเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลในชุมชนมากขึ้น รวมถึงอยากให้ทุกภาคส่วนมีการร่วมมือในเรื่องของการจัดการขยะพลาสติกให้มีประสิทธิภาพ"