ค่าไฟแพง-บริบทประเทศเปลี่ยน ดันยอดขอติดตั้ง 'โซลาร์เซลล์' พุ่ง
"กกพ." ระบุ ต้นทุนค่าไฟแพงขึ้น ประกอบกับบริบทประเทศที่เปลี่ยนแปลง หนุนยอดขอติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวภายหลังงานสัมมนา หลักเกณฑ์การอนุญาตสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ครั้งที่ 1 สำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานและสมาคมธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2566 ว่า การจัดงานสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างความเข้าใจในการขอใบอนุญาตในการติดตั้งโซลาร์ทั้งกลุ่มประชาชนและกลุ่มอุตสาหรรม
อย่างไรก็ตาม การที่ กกพ. เน้นในเรื่องของโซลาร์รูฟ เพราะประชาชนสนใจและเริ่มติดตั้งเยอะขึ้น ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ขึ้นไป ที่อาจขอข้อยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาต ส่วนกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ขอติดตั้งเกิน 1,000 กิโลวัตต์ จะมีขั้นตอนที่มากกว่าโดยเฉพาะการขอใบอนุญาต จึงต้องอธิบายตามกระบวนการว่าแต่ละขนาดควรปฎิบัติอย่างไร เพื่อความรวดเร็วในการติดตั้ง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการขอติดตั้งโซลาร์รูฟอาจใช้ระยะเวลาที่ยืดยื้อด้วยปัจจัยหลายอย่าง กกพ. จึงพยายามปรับกระบวนการให้อยู่บนออนไลน์มากขึ้น เมื่อเอกสารการขอครบถ้วนโดยเฉพาะใบอนุญาตประเภทต่าง ๆ ก็สามารถยื่นขอตามขั้นตอนได้เลย
นายคมกฤช กล่าวว่า ที่ผ่านมาการขอเพื่อใช้ในบ้านมาถึงกกพ. ก็จะเร็ว แต่อาจจะล่าช้าตรงที่ต้องให้การไฟฟ้าจัดคิวตรวจระบบของไฟในทุกบ้าน ดังนั้น หากจะให้เร็วอาจจะต้องเพิ่มบุคลากรเเข้ามาเสริมในจุดนี้ ซึ่งปัจจุบันถือว่าการขอติดตั้งโซลาร์สำหรับบ้านอยู่อาศัยเร็วขึ้น แต่หากเป็นกลุ่มโรงงาน หรือธุรกิจที่มีจำนวนกิโลวัตต์สูง จะต้องใช้เวลาในการเริ่มต้นของการขอใบอนุญาตซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงปรับปรุง เพื่อลดขั้นตอนที่เคยประกาศจากเดิมการขอติดตั้งขนาดเล็กสำหรับประชาชนทั่วไปจะต้องแล้วเสร็จใน 1 เดือน และหากเกิน 200 กิโลวัตต์ จะต้องเร็วขึ้นกว่า 2 เดือน
"ขนาดเล็กไม่มีปัญหา ขนาดใหญ่ต้องตรวจสอบและดูแลความปลอดภัยมากขึ้น เพราะปริมาณไฟมากขึ้น ทั้งบ้านอยู่อาศัยและผู้ใช้งาน ซึ่งปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ระบบไอทีจะแล้วเสร็จและจะรวดเร็วขึ้น ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ยอดการขอติดตั้งโซลาร์มากขึ้น ส่วนมากมาจากกลุ่มโรงงาน"
สำหรับยอดขอติดตั้งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เกิดจากปัจจัยคือ
1. ค่าไฟที่แพงขึ้น
2. กลุ่มธุรกิจโรงงาน เห็นถึงความสำคัญของการลดค่าไฟแล้ว และสามาารถรับรองได้ว่าเป็นโรงงานที่ใช้พลังงานสะอาด
3. สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เนื่องจากโรงงานแต่ละแห่งได้รับสิทธิพิเศษจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
4. เทรนด์การใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันมากขึ้น ที่อาจจะมาจากสังคมผู้สูงวัยที่มีคนอยู่บ้านในช่วงเวลากลางวันมากขึ้น รวมถึงกลุ่มคนที่นิยมทำงานที่บ้านมากขึ้น
5. ต้นทุนค่าแผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกลงกว่าเดิมจากราคากว่า 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เหลือเพียง 20 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์
"ด้วยปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้การขอติดตั้งโซลาร์ใช้เองเพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าไฟกว่า 4 บาทต่อหน่วย รวมถึงแนวโน้มการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้า สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งแล้วประมาณ 10-20 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากยอดสะสมการติดตั้งนับตั้งแต่ปี 2562-2565 ที่มีเพียง 9 เมกะวัตต์ จากโควตารับซื้อรวม 260 เมกะวัตต์"
สำหรับโควตารับซื้อไฟฟ้าภาคประชาชนนั้น ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2566 ได้ปรับหลักเกณฑ์การรับชื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนใหม่ จากเดิมจะประกาศรับซื้อปีต่อปี เปลี่ยนเป็นการรับซื้อระยะยาว 10 ปี (พ.ศ. 2564-2573) รวม 90 เมกะวัตต์ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดภายใต้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1
ดังนั้น หากประชาชนเข้าร่วมโครงการมากกว่าโควตาที่กำหนด 90 เมกะวัตต์ก่อนปี 2573 กระทรวงพลังงาน สามารถขอ กพช. ขยายโควตาการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเพิ่มได้อีกตามความเหมาะสมของสถานการณ์ในเวลานั้น
"ถ้ารูปแบบโซลาร์ภาคประชาชนจะติดตั้งระบบไฟแบบให้ไหลกลับย้อนได้ซึ่งเป็นดิจิทัล แต่ถ้าติดแบบการใช้งานทั่วไปจะติดแบบไหลย้อนกลับไม่ได้ ซึ่งยอมรับว่าช่วงนี้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาลนิยมติดตั้งมากขึ้นเพราะมีการใช้ไฟตลอดเวลาถือว่าคุ้มค่า ส่วนภาคประชาชนหากจะสนับสนุนมากกว่านี้จะเป็นเรื่องของภาคนโยบายที่จะเข้ามาให้ส่วนลด ถือว่านอกเหนือจากที่กกพ.ดูเล ซึ่งปัจจุบันธนาคารต่าง ๆ ก็มีโครงการสนับสนุนปล่อยกู้ที่ต่ำมากไม่เหมือนตอนโซลาร์ออกมาใหม่ ๆ ที่ดอกเบี้ยแพงมาก"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา กกพ.ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนตามคำสั่ง กพช. ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จรับซื้อไฟฟ้าได้ถึงเป้าหมายเลยสักครั้ง โดยในปี 2562 และ 2563 เปิดรับซื้อไฟฟ้าปีละ 100 เมกะวัตต์ รวม 200 เมกะวัตต์ แต่มีประชาชนเข้าร่วมโครงการและผลิตไฟฟ้าได้รวม 3-4 เมกะวัตต์เท่านั้น เนื่องจากราคารับซื้อไม่จูงใจมากนักเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย
ต่อมาในปี 2564 เปิดรับซื้อลดลงเหลือ 50 เมกะวัตต์ และปรับราคารับซื้อเพิ่มขึ้นจาก 1.68 บาทต่อหน่วย เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย แต่ก็ยังมีประชาชนเข้าร่วมโครงการและขายไฟฟ้าเพียง 3 เมกะวัตต์ จากนั้นในปี 2565 ภาครัฐปรับลดเป้าหมายการรับซื้อเหลือเพียง 10 เมกะวัตต์ ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วยเช่นเดิม และมีประชาชนร่วมโครงการขายไฟฟ้ารวมเพียง 1.37 เมกะวัตต์
โดยรวมการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนมา 4 ครั้ง (พ.ศ. 2562-2565) ได้ไฟฟ้ารวมเกือบ 9 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายรับซื้อรวม 260 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 นี้ กพช. จึงได้ปรับหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็นเป้าหมายระยะยาว 10 ปีแทน นับตั้งแต่ปี 2564-2573 รวมรับซื้อไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย