กฟน. เร่งพัฒนาระบบรองรับผู้ใช้รถอีวี คาด10-15 ปี ยอดใช้ไฟพุ่ง 2 เท่า

กฟน. เร่งพัฒนาระบบรองรับผู้ใช้รถอีวี คาด10-15 ปี ยอดใช้ไฟพุ่ง 2 เท่า

กฟน. เร่งพัฒนาระบบไฟรองรับการใช้รถ EV คาด อีก 10-15 ปี ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่ง 2 เท่า จากปัจจุบันลูกค้าใช้ไฟราว 10,000 เมกะวัตต์ เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มกลางส่งผ่านพลังงานสะอาด ช่วยเพิ่มรายได้โซลาร์ภาคประชาชน

นายชูเกียรติ ยั่งยืนบางชัน ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้าและโครงข่ายอัจฉริยะ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวในงานสัมมนา Thailand Smart City : Bangkok Model หัวข้อ Everywhere Greener with Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ ทั่วถึง ครอบคลุม จัดโดย “เนชั่น กรุ๊ป” ว่า พันธกิจของ กฟน.คือ “Energy for city life, Energize smart living” ขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร โดยพยายามพัฒนาระบบไฟฟ้า และบริการสำหรับรองรับวิถีชีวิตเมืองมหานคร อยู่ในยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต ด้วยการรับผิดชอบจำหน่ายไฟฟ้าให้ประชาชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ กว่า 4 ล้านราย

กฟน. เร่งพัฒนาระบบรองรับผู้ใช้รถอีวี คาด10-15 ปี ยอดใช้ไฟพุ่ง 2 เท่า

ทั้งนี้ หากมองพื้นที่มีไม่ถึง 1% ของประเทศ แต่การใช้พลังงานสูงถึง 25% กฟน. มีการพัฒนาระบบการควบคุมโครงข่าย และขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าเพื่อการรับไฟในปริมาณที่แตกต่างกัน และเพียงพอไม่ดับ และเมื่อเวลาผ่านไป อุปกรณ์ไฟฟ้าเปลี่ยน แหล่งผลิตเปลี่ยน ขณะนี้เริ่มมีในเรื่องของพลังงานสะอาดเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตของคน กทม. มากขึ้น ซึ่ง กฟน. มีทั้งโรงไฟฟ้าขยะ และเทคโนโลยีโฟโตวอลเทอิก (PV) พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่ง PV จะค่อนข้างไม่เสถียรจึงพัฒนาระบบเป็นโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) รองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดทันที

นอกจากนี้ พันธกิจเพื่อสังคมเมืองคือ ระบบสายไฟใต้ดินเพื่อรองรับเพราะสายส่งไฟ เพราะเสาต้นหนึ่งรองรับได้ 2 จอ ซึ่งไม่สามารถส่งพลังงานได้ทั้งหมดจึงต้องมีโครงการสายไฟใต้ดินเพื่อเป็นเส้นเลือดใหญ่ โดยเฉพาะโซนที่ใช้ไฟเยอะสุดคือ โซนชั้นในตัวเมือง ที่มีโรงแรม คอนโดมิเนียม จำนวนมาก และอีกจุดคือ นิคมอุตสาหกรรมแต่พื้นที่จะไม่เยอะ อีกทั้ง สิ่งที่จะเข้ามาคือ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งกฟน.ได้ประเมินการใช้ไฟปัจจุบันสูงสุด 10,000 เมกะวัตต์ หากคนใน 3 จังหวัดที่ดูแลใช้รถ EV ภายใน 10-15 ปีข้างหน้าจะต้องเพิ่มเป็น 2 เท่า กฟน.จึงต้องเตรียมพร้อมรองรับจุดนี้เช่นกัน

“ตอนนี้เราทำโครงการสายลงใต้ดินเสร็จแล้วที่ 62 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 174 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จปี 2568 และอยู่ระหว่างนำเสนอโครงการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 77 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จปี 2570 โดยจะเลือกถนนหลัก ที่เป็นถนนที่มีบุคคลทั่วไปสัญจร ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ อยู่ในแนวตามรถไฟฟ้า เพราะต้นทุนมากกว่าถึง 10 เท่า”

สำหรับการรองรับการชาร์จรถ EV ตามหมู่บ้าน นั้น กฟน.มีการ Monitor โดยการติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์เพื่อติดตาม และทราบว่าบ้านไหนมีการใช้รถ EV ซึ่งการขอติดตั้งเครื่องชาร์จ EV ที่บ้านจะมี 2 แนวทาง คือ ให้สิทธิผู้ใช้ไฟฟ้าเลือกจะเป็นมิเตอร์เดียวแล้วเดิน 2 สายเมนจากบ้านมาที่หัวเสาไฟหรือติดตั้ง 2 มิเตอร์ แต่จะมีกฎกติกาที่ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดคือ หากขอ 2 มิเตอร์ จะต้องรับภาระการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าทั้ง 2 ใบด้วย

 

 

 

 

“สิ่งที่คิดคือ การร่วมมือกับภาครัฐเรื่องการกำกับราคาค่าไฟสำหรับการชาร์จไฟรถอีวีที่บ้านซึ่งอาจจะต้องมีอะไรบางอย่าง เช่น สามารถให้การไฟฟ้ากำกับดูแลในเวลาที่ไม่เร่งด่วนหรือในช่วงที่มีคนใช้ไฟมากในการชาร์จ ถ้ายินยอมก็จะได้ราคาที่ถูกลง”

สำหรับสัดส่วนพลังงานสะอาดขณะนี้ยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำราว 5% โดยสัดส่วน 10,000 เมกะวัตต์ เป็นการใช้จากผู้ใช้ไฟแรงต่ำ 40% จากการประเมินหากทุกบ้านติดโซลาร์ทุกหลังจะทำให้พลังงานที่ใช้ลดลงจากปัจจุบันลดลง 20% แต่ภายใต้ Energy Storage มาในจุดที่คุ้มค่าจะทำให้การใช้ไฟฟ้าลดลงไปราว 40%

อย่างไรก็ตาม อนาคต กฟน. จะมีหน้าที่สนับสนุนเพราะจากการพัฒนาองค์กรให้สามารถรองรับการรับซื้อไฟฟ้า เพราะต้นทุนของพลังงานแสงอาทิตย์ลดลง และปัจจุบันจะมีนโยบายรับซื้อโซลาร์ภาคประชาชนราคา 2.20 บาท อนาคตโครงสร้างกิจการไฟฟ้าจะอยู่ในแผนปฏิรูปที่เกิดตลาดการแข่งขัน กฟน.จะทำหน้าที่ส่งผ่าน และคิดค่าบริการซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมระบบ และศึกษาแพลตฟอร์มการนำส่งพลังงานจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งที่ไม่ใช่การดำเนินกิจการปัจจุบันโดยการรับไฟจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ จากการพัฒนาบริการต่างๆ ให้สมาร์ทมากขึ้น กฟน. ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Application Smart Life ซึ่งถือเป็นบริการครบวงจรบนแอปพลิเคชันเดียว อาทิ การขอไฟ เพิ่ม ลดขนาดไฟ เป็นต้น ซึ่ง กฟน. จะพัฒนาระบบบริการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะทุกอย่างมีการพัฒนา และอยู่ที่คน กฟน. ที่จะต้องเรียนรู้ข้อผิดพลาดและพัฒนาให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ยิ่งขึ้นไป ยืนยันว่าไฟอาจจะมีดับบ้างแต่จะดับน้อยลง และกลับมาอย่างรวดเร็ว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์