'สามารถ' เปิดตัวเลขนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ฉุดรายได้รถไฟฟ้าวูบ 33%
"สามารถ ราชพลสิทธิ์" เปิดข้อมูลนโยบายปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้า อ่วม ! 20 บาทตลอดสาย ฉุดรายได้รถไฟฟ้า "แดง-ม่วง" วูบสูงสุดวันละ 7.4 ล้านบาท
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสบนเฟสบุ๊คส่วน ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte ถึงประเด็นนโยบายปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า อ่วม ! 20 บาทตลอดสาย ฉุดรายได้รถไฟฟ้า “แดง-ม่วง” วูบ โดยระบุว่า 20 บาทตลอดสาย เริ่มใช้กับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงมาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 ต.ค. 2566 ก่อนหน้านี้ผมได้เสนอผลหลังจากใช้นโยบายนี้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ปรากฏว่าผู้โดยสารรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้นรวมกัน 5.6% หลายคนอยากรู้ว่ารายได้จากค่าโดยสารจะลดลงเท่าไหร่ ?
1. การประเมินผลใน 1 สัปดาห์
1.1 ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย
เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 ต.ค. 2566 ถึงวันอาทิตย์ที่ 15 ต.ค. 2566 ยกเว้นวันศุกร์ที่ 13 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันหยุด ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันทำงานได้
1.2 ระยะเวลา 1 สัปดาห์ หลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย
เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 ต.ค. 2566 ถึงวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค. 2566 ยกเว้นวันศุกร์ที่ 20 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันทำงาน ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับวันศุกร์ที่ 13 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดได้
2. รายได้รถไฟฟ้า 1 สัปดาห์ ก่อนและหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย
2.1 รายได้รถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดงก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย 1 สัปดาห์ มีรายได้เฉลี่ยวันละ 0.65 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 0.5 ล้านบาท นั่นคือรายได้ลดลงเฉลี่ยวันละ 0.15 ล้านบาท คิดเป็น 23%
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ให้เดินรถไฟฟ้าสายสีแดงพร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษาเฉลี่ยวันละ 1.31 ล้านบาท ดังนั้น ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย รฟท. ขาดทุนเฉลี่ยวันละ 0.66 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย ขาดทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 0.81 ล้านบาท
2.2 รายได้รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วงก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย 1 สัปดาห์ มีรายได้เฉลี่ยวันละ 1.3 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 0.8 ล้านบาท นั่นคือรายได้ลดลงเฉลี่ยวันละ 0.5 ล้านบาท คิดเป็น 38%
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้เดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงพร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษาเฉลี่ยวันละ 7.39 ล้านบาท ดังนั้น ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย รฟม. ขาดทุนเฉลี่ยวันละ 6.09 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย ขาดทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 6.59 ล้านบาท
2.3 หลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 7.4 ล้านบาท จากเดิมขาดทุนวันละ 6.7 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายม่วงก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย 1 สัปดาห์ มีรายได้รวมกันเฉลี่ยวันละ 1.95 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย เฉลี่ยวันละ 1.3 ล้านบาท นั่นคือรายได้ลดลงเฉลี่ยวันละ 0.65 ล้านบาท คิดเป็น 33%
รฟท. และ รฟม. จ่ายค่าจ้างเดินรถพร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงรวมกันวันละ 8.7 ล้านบาท ดังนั้น ก่อนเก็บ 20 บาทตลอดสาย รฟท. และ รฟม. ขาดทุนเฉลี่ยรวมกันวันละ 6.75 ล้านบาท และหลังเก็บ 20 บาทตลอดสาย ขาดทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 7.4 ล้านบาท
3. สรุป
ในช่วงเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พบว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นรวมกัน 5.6% แต่รายได้ลดลงถึง 33% ทำให้ รฟท. และ รฟม. ขาดทุนรวมกันเพิ่มขึ้นจากวันละ 6.75 ล้านบาท เป็นวันละ 7.4 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ รมว. คมนาคม ผู้นำนโยบาย 20 บาทตลอดสายมาใช้ จะต้องโชว์ฝีมือทำให้การขาดทุนลดลงให้ได้ จนกระทั่งไม่ขาดทุนเลยหรือได้กำไรตามที่ได้ประกาศไว้ โดยจะต้องหาทางทำให้มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญให้ได้
ขอเป็นกำลังใจให้อีกครั้งครับ !