แจกเงินดิจิทัล ความตื้นเขินของนโยบาย One Size Fits All
เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า นโยบายประชานิยมของรัฐบาลเรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้แก่คนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ด้วยเม็ดเงินงบประมาณมากถึง 5.6 แสนล้านบาท จะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ได้จริงอย่างที่รัฐบาลอ้างหรือไม่
ถ้าได้ผลดีจริงก็เป็นที่น่าดีใจ เพราะหลายคนเฝ้ารอให้เศรษฐกิจของไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ถ้าไม่ได้ผลอย่างว่าก็ถือเป็นการสูญเปล่าของเม็ดเงินมหาศาล และอาจทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สถานะยากลำบากทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นโยบายนี้จึงเป็นเดิมพันที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับประเทศไทย
การแจกเงินดิจิทัลที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าท่ามกลางเสียงคัดค้านของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เป็นการหว่านไปทั่วๆ แจกเท่าๆ กันทุกคน ไม่สนใจว่าใครจะมีรายได้มากหรือน้อย และหวังว่าทุกคนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยกันอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่กำหนด ในเขตพื้นที่ที่กำหนดไว้
การวิเคราะห์แบบนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ทุกคนเมื่อได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะออกมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มเติมจากการใช้สอยตามปกติ การจับจ่ายใช้สอยส่วนเพิ่มนี้จะเป็นเม็ดเงินที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้คึกคักในทันที
สำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยถึงน้อยมาก หาเช้ากินค่ำ มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต เมื่อได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจจะนำออกมาจับจ่ายใช้สอยกันอย่างเต็มที่แน่นอน
เนื่องจากเป็นกลุ่มที่รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย หลายคนอาจวางแผนการใช้เงินส่วนนี้กันเรียบร้อยแล้ว แค่รอเวลาที่รัฐบาลกดปุ่มอนุมัติโอนเงินเข้าดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ว่ารัฐบาลจะสร้างเงื่อนไขใดๆ เกี่ยวกับเขตพื้นที่ที่จะนำเงินส่วนนี้ไปใช้
เงินจำนวนนี้คือความหวังที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แม้จะเป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม ดังนั้น นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สำหรับคนกลุ่มนี้ ก็จะได้ผลตามที่รัฐบาลคาดหวัง ในทำนองเดียวกันกับโครงการแจกเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการคนละครึ่งที่รัฐบาลก่อนเคยทำมาแล้ว
สำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงมาก รายได้ของคนกลุ่มนี้สูงกว่ารายจ่าย คนกลุ่มนี้มักมีเงินออม และมีการลงทุนต่างๆ ไม่มีความขัดสนเชิงเศรษฐกิจ เมื่อได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีพฤติกรรมเหมือนกับคนกลุ่มรายได้น้อยไหม คำตอบคือ ไม่เหมือน
สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือ คนกลุ่มนี้คงใช้จ่ายเงินเหมือนเดิม เพียงแค่นำเงินดิจิทัล 10,000 บาท มาใช้แทนเงินรายได้ตามปกติ เท่ากับเงินออมของกลุ่มนี้ก็จะเพิ่มขึ้น 10,000 บาท
กลุ่มนี้ไม่มีความจำเป็นในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 10,000 บาท เพราะถ้ามีความต้องการใช้จ่ายจริงก็สามารถใช้จ่ายได้โดยที่ไม่ต้องรอเงินดิจิทัล 10,000 บาท เนื่องจากมีเงินเพียงพอที่จะจับจ่ายใช้สอยได้อยู่แล้ว
ดังนั้น นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงมาก ก็จะไม่ได้ผลตามที่รัฐบาลคาดหวัง สิ้นเปลืองงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลโดยเปล่าประโยชน์
สิ่งที่รัฐบาลควรทำกับคนกลุ่มหลัง คือหาทางให้คนกลุ่มนี้ควักเงินรายได้ออกมาใช้จ่ายมากขึ้น หรืออย่างน้อยเร่งให้จับจ่ายใช้สอยในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับคนกลุ่มแรก
มาตรการที่ได้ผลดีที่รัฐบาลชุดที่แล้วเคยทำกับคนกลุ่มหลังคือ การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากจำนวนเงินที่นำมาใช้จ่ายตามเงื่อนไขที่กำหนดในช่วงเวลาที่กำหนด
ลองคิดดู สมมติว่าคนกลุ่มนี้เสียภาษีสูงถึงในอัตราภาษี 25% ถ้าใช้จ่าย 10,000 บาท ก็ประหยัดภาษี 2,500 บาท เสมือนว่าเสียเงินจริงแค่ 7,500 บาท ถ้าใช้จ่าย 40,000 บาท ก็ประหยัดภาษี 10,000 บาท เสมือนว่าเสียเงินจริงแค่ 30,000 บาท
มาตรการลดหย่อนภาษีแบบนี้เปรียบเสมือนมหกรรมสินค้าลดราคา คนกลุ่มนี้จะเร่งออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น มาตรการนี้ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณรายจ่ายแต่อย่างใด แต่แน่นอนว่าประมาณการรายได้จากภาษีจะลดลง แต่ก็ไม่ได้ลดลงทั้ง 100%
ลองย้อนไปคิดดู หากต้องการให้คนกลุ่มนี้เร่งควักเงินออกมาจับจ่าย 10,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินดิจิทัลที่จะแจก รายได้ภาษีที่จะลดลงก็แค่ 2,500 บาท หรือ 1 ใน 4 ของเงินงบประมาณที่ใช้แจกเงินดิจิทัล
แต่ถ้ายอมตัดใจลดรายได้ภาษีลงเพื่อการนี้ 10,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินดิจิทัลที่จะแจก จะกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้เร่งควักเงินออกมาจับจ่ายได้มากถึง 40,000 บาท หรือ 4 เท่าของเม็ดเงินที่รัฐบาลต้องการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เห็นได้ชัดๆ ว่าเป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างคุ้มค่ากว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินงบประมาณเพียงแค่ 1 ใน 4 เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่คาด หรือการใช้เงินงบประมาณตามที่ตั้งใจไว้ แต่ได้ผลลัพธ์มากเป็น 4 เท่าของสิ่งที่คาดหวัง
นโยบายการแจกเงินดิจิทัลให้คนทุกๆ กลุ่มจึงไม่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่ฝัน เป็นความคิดที่ตื้นเขินเกินไป แถมเม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายมหาศาลที่สูญเปล่าไปกับคนบางกลุ่มยังทำลายความมั่นคงทางการคลังของประเทศด้วย
แต่หากจะดึงดันทำจริง ก็ขอให้แจกเฉพาะกลุ่มคนที่น่าจะมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย เช่น กลุ่มคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือกลุ่มเกษตรกรที่ต้องได้รับความช่วยเหลือที่น่าจะได้เคยลงทะเบียนมาแล้ว
อย่าหว่านแจกไปทั่วๆ ให้กับกลุ่มคนที่เข้าข่ายมีรายได้มากกว่ารายจ่าย หันมาใช้มาตรการลดหย่อนภาษีกับคนกลุ่มนี้น่าจะได้ผลดีกว่า
รัฐบาลควรออกแบบมาตรการที่เแตกต่างกันสำหรับคนกลุ่มที่แตกต่างกัน อย่าทำแบบ One Size Fits All เพราะจะสร้างความเสียหายกับประเทศอย่างมโหฬาร.