ออมสินจับมือพาร์ตเนอร์ร่วมทุนตั้งเอเอ็มซีซื้อหนี้เสียทุนเริ่ม 1 พันล้าน

ออมสินจับมือพาร์ตเนอร์ร่วมทุนตั้งเอเอ็มซีซื้อหนี้เสียทุนเริ่ม 1 พันล้าน

ออมสิน เล็งจับมือพาร์ตเนอร์ตั้งเอเอ็มซีรับซื้อหนี้เสีย ทุนจดทะเบียนเริ่ม 1 พันล้าน พร้อมปรับแผนธุรกิจเสนอ สคร.- ธปท.อนุมัติ คาดได้ข้อสรุปต้นปีหน้า เริ่มรับซื้อหนี้เสียของธนาคารเฉพาะรายย่อย - เอสเอ็มอี

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึง ความคืบหน้าการจัดตั้งเอเอ็มซีเพื่อบริหารหนี้เสียว่า หลังจากธนาคารได้รับมอบนโยบายในการจัดตั้งเอเอ็มซีดังกล่าว ขณะนี้ ธนาคารจึงอยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินจัดตั้ง โดยได้เข้าไปปรับแผนการดำเนินงานของธนาคารในปี 2567 เพื่อรองรับการดำเนินการจัดตั้งเอเอ็มซีดังกล่าว

“เมื่อเราได้รับนโยบายมา เราก็ต้องนำไปปรับให้รับกับแผนการดำเนินงานที่เราเคยเสนอระดับนโยบายหรือสคร.เอาไว้ ซึ่งขณะนี้ เราก็ต้องเสนอการปรับแผนดังกล่าวให้ สคร.รับทราบ”

นอกจากนี้ ยังจะต้องหารือ และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อขออนุญาตในการดำเนินการ รวมถึง การเสนอแผนการจัดตั้งเอเอ็มซีเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ดังนั้น การจัดตั้งเอเอ็มซีจึงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี ตั้งเป้าหมายว่าภายในต้นปีหน้าจะเห็นความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น

สำหรับ แนวทางการจัดตั้งเอเอ็มซี ธนาคารจะใช้แนวทางการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา โดยดึงพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมทุน และบริหารจัดการ ทุนจดทะเบียนเบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาท หากต้องการเงินทุนเพิ่มจะใช้วิธีการกู้เงิน สำหรับผู้ร่วมลงทุนนั้น ขณะนี้ ได้เริ่มเจรจาแล้ว ซึ่งเราจะมีผู้ร่วมทุนเพียง 1 รายเท่านั้น

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเอเอ็มซีดังกล่าว ก็เพื่อรับซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงินมาบริหารจัดการเพื่อช่วยลดปัญหาหนี้สินครัวเรือนของประเทศ อย่างไรก็ดี ในระยะแรกเอเอ็มซีจะทำการรับซื้อหนี้เสียเฉพาะของธนาคารออมสินเท่านั้น จากนั้น เมื่อบริหารจัดการได้ดีแล้วจะเริ่มรับซื้อหนี้เสียจากแบงก์รัฐแห่งอื่น

สำหรับหนี้เสียที่จะรับซื้อจากธนาคารออมสินนั้น จะเป็นหนี้เสียในกลุ่มรายย่อย และเอสเอ็มอี เท่านั้น เพื่อเป็นการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้

“เอเอ็มซีนี้ จะมีประโยชน์กับลูกหนี้รายย่อย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า เมื่อพลาดพลั้งเป็นหนี้เสียไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ ถ้าเข้ามาอยู่ในเอเอ็มซีก็จะช่วยให้เขาปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะความคล่องตัวในการปรับโครงสร้างหนี้ของแบงก์รัฐนั้น ถือว่า มีข้อจำกัด”

ทั้งนี้ กรณีที่เป็นหนี้เสีย ลูกหนี้จะโดนสถาบันการเงินนำส่งข้อมูลให้บริษัทเครดิต 5 ปี และค้างในระบบของแบงก์อีก 3 ปี รวมเป็นนานถึง 8 ปี แต่หากมีการบริหารจัดการหนี้ด้วยหลักการของเอเอ็มซีจะช่วยลดหนี้ได้รวดเร็วขึ้น 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์