หนี้สินครัวเรือนกับวินัยการออม : ความแตกต่างที่สอดคล้อง
ในอดีตความรู้ทางการเงินเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังผ่านครอบครัว และมีเป้าหมายถึงการออมและมัธยัสถ์ต่อตนเอง
ทุกวันนี้หลายคนคงผ่านตาทั้งในชีวิตจริงและโลกโซเชียลเน็ทเวิร์คมาไม่มากก็น้อย ถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องประสบกับปัญหาหนี้สิน รายได้ไม่พอรายจ่าย หรือเก็บเงินไม่อยู่/ไม่ได้
ปัญหาเหล่านี้แม้จะดูเป็นเรื่องของปัจเจกชนหรือเรื่องภายในครอบครัว ที่อาจห่างไกลจากตัวเรา หากแต่ข้อมูลในช่วงปีที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าปัญหาทางการเงินและหนี้สินเหล่านี้ได้พอกพูนและรวมตัวกันกลายเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายตระหนัก
3683620-high.jpg
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ชี้ให้เห็นว่าหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 50 มาเป็นกว่าร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในทางเดียวกัน รายได้ของครัวเรือนมีการเติบโตในอัตราส่วนที่น้อยกว่าการขยายตัวของหนี้สิน
ตัวเลขของหนี้สินครัวเรือนเหล่านี้บอกอะไรแก่เรา?
การเติบโตของหนี้สินครัวเรือนนี้ดูจะเป็นสิ่งทีส่งผลทั้งในระดับประเทศและในระดับรองๆ ลงมา ในระดับประเทศหนี้สินครัวเรือนได้ทำให้สัดส่วนการบริโภคในชีวิตประจำวันลดน้อยลง เพราะเงินส่วนใหญ่ต้องถูกนำไปใช้จัดการกับหนี้สิน ยิ่งไปกว่านั้นหากเกิดวิกฤติหรืออุบัติเหตุทางเศรษฐกิจบรรดาหนี้สินครัวเรือนเหล่านี้จะส่งผลซ้ำเติมกับสภาพความเป็นอยู่และเศรษฐกิจในภาพรวมด้วยเช่นกัน เนื่องจากส่วนหนึ่งของหนี้สินเกิดจากสินทรัพย์ที่คงทน เช่น รถยนต์ เป็นต้น
ในระดับรองลงมา คือ ระดับชุมชนและครอบครัว หรือที่ทำงาน หนี้สินครัวเรือนเหล่านี้ จะส่งผลให้เกิดการบั่นทอนสภาวะทางจิตใจของผู้คน และประสิทธิภาพการทำงานที่ลดน้อยลง เพราะมัวแต่พะวงถึงการใช้จ่ายและจัดการหนี้สิน รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อชีวิตในวัยหลังเกษียณอายุที่ขาดหลักประกันทางการเงินหรือเงินออมที่เพียงพอด้วย นอกจากนี้ ในหลายกรณีได้ชี้ให้เห็นว่าหนี้สินครัวเรือนได้นำไปสู่การยักยอกเงินของบริษัทหรือของชุมชน
การจัดการกับหนี้สินครัวเรือน?
แม้ภาครัฐและภาคเอกชนจะเล็งเห็นถึงผลเสียของหนี้สินครัวเรือน และพยายามออกมาตรการช่วยเหลือหนี้สินครัวเรือนออกมา หากแต่ก็ยังดูมีลักษณะที่ไม่เป็นรูปธรรมและมีความเฉพาะกลุ่มอยู่มาก และหน่วยงานจำนวนหนึ่งเชื่อว่า “การเพิ่มรายได้” จะเป็นช่องทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งวิธีการ “การเพิ่มรายได้” ดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าไม่ประสบผลสำเร็จและไม่ใช่ทางออกของปัญหา เพราะหนี้สินครัวเรือนส่วนใหญ่เกิดมาจาก “นิสัย” หรือ “วินัย” ทางการเงินที่หย่อนยานของครัวเรือน
จากรากฐานของปัญหาดังที่ว่ามานี้ได้ทำให้สถาบันคีนันแห่งเอเซียซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรและทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ได้จัดทำโครงการ “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิซิตี้ขึ้น เพื่อสังเคราะห์ถึงปัญหาและนโยบายเกี่ยวกับการจัดการเงินส่วนบุคคลหรือเงินออมของสังคมไทย รวมถึงพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการบริหารเงินออมส่วนบุคคล
โครงการของสถาบันคีนันฯ ดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่บนฐานคิดว่า “วินัย/นิสัยทางการเงิน” ที่ดีจะมีส่วนช่วยในการลดภาระและปัญหาในระยะยาวให้กับประเทศและสังคม โดยเฉพาะปัญหาทางด้านหนี้สินและปัญหาทางการเงินหลังวัยเกษียณอายุ ซึ่งการให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินควรเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กและมีลักษณะยืดหยุ่นกับกลุ่มอาชีพที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ข้อมูลการสำรวจจากมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากลุ่มนักเรียนนักศึกษาหรือเยาวชนเป็นกลุ่มที่มีปัญหาทางการเงินบ่อยครั้ง รายได้ไม่พอรายจ่าย ไม่มีการวางแผนทางการเงิน ไม่เห็นความสำคัญ และไม่มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรื่องการเงิน ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่นำไปสู่ปัญหาทางหนี้สินและการเงินต่อไปในอนาคต
นอกจากกิจกรรมและแนวทางการเตรียมสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ของคีนัน แล้ว ผู้เขียนก็ได้มานั่งลองคิดว่าอะไรที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความรู้/วินัยเรื่องการเงินน้อยกว่าคนรุ่นก่อน (โดยเฉพาะรุ่นปู่ย่าตายาย) ซึ่งสมมติฐานของผู้เขียน คือ แม้ในอดีตจะมีสินค้าล่อตาล่อใจหรือความเป็นบริโภคนิยมน้อยกว่าปัจจุบัน แต่นั่นก็อาจมิใช่คำตอบของปัญหานี้อย่างที่หลายคนพยายามพร่ำบอก ผู้เขียนมีความคิดว่า ในอดีตความรู้ทางการเงินเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังผ่านครอบครัว (ขยาย) เป็นสำคัญ ผ่านจารีตและคำสอนแบบไทย/จีน และมีเป้าหมายถึง “การออม” และ “มัธยัสถ์” ต่อตนเอง “ลดการเป็นหนี้” แต่ “ใจกว้าง” ต่อผู้อื่นเป็นหลัก รวมถึงมีความสอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมในแต่ละที่ ซึ่งต่อมาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ส่งผลให้บรรดาเด็กๆ มิได้อยู่กับครอบครัวหรือชุมชนอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ในทางเดียวกับ หลักสูตรการสอนในโรงเรียนก็มิได้สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน ทำให้ทักษะในด้านการบริหารและออมเงินลดน้อยถอยลงไป
ในแง่นี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดความรู้ด้านการเงินและรากฐานของปัญหาหนี้สินครัวเรือนจึงอยู่ที่การสร้างหลักแนวทางการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับชีวิตของเด็ก/เยาวชนเพื่อให้เกิดการตระหนักและจับต้องได้ในชีวิตจริง อันทำให้กลุ่มเด็กรุ่นใหม่เติบโตมาเป็นคนที่รู้จักใช้เงินและส่งต่อความรู้ไปยังรุ่นต่อไป
เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นภาระให้กับลูกหลานในอนาคต