อุตฯ อาหารไร้ผลกระทบ 'น้ำตาล' ขยับราคา
ทรายที่ปรับเพิ่มขึ้น ไม่กระทบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม มองว่าการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายเป็นกลไกตลาดซึ่งต้องเป็นไปตามตลาดโลก
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุ ราคาน้ำตาลทรายที่ปรับเพิ่มขึ้น ไม่กระทบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม มองว่าการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายเป็นกลไกตลาดซึ่งต้องเป็นไปตามตลาดโลก และต้องยอมรับว่าปัญหาของโลกในขนาดนี้นอกจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ยังมีเรื่องโลกร้อน ทำให้หลายประเทศงดส่งออกพืชผลการเกษตร เช่น ประเทศอินเดียประกาศงดส่งออกข้าว ทำให้ข้าวในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูง ซึ่งส่งผลดีกับตัวเลขส่งออกของประเทศไทยที่ได้รับอานิสงค์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
ส่วนน้ำตาลทรายปัญหาโลกร้อนทำให้หลายประเทศผลิตได้น้อยลง จึงทำให้ในตลาดโลกปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง สิ่งที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือ การปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก ส่งผลดีกับผู้ส่งออกน้ำตาล ขณะเดียวกันการปรับขึ้นราคาน้ำตาลในประเทศก็ส่งผลดีกับชาวไร่อ้อย ส่วนผู้บริโภคก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย ส่วนภาคอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบบ้างเพราะต้นทุนสูงขึ้น แต่เชื่อว่ากระทบไม่มากไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหาร
ผนึก 4 หน่วยงาน หนุนใช้สินค้าผลิตในไทย
นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ผนึก 4 หน่วยงาน ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MiT) ในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย
ปัจจุบันโครงการ MiT มีผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 5,000 กิจการ จำนวนสินค้ามากกว่า 50,000 รายการ ครอบคลุมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขึ้นทะเบียนรับรอง MiT สูงสุด 5 ลำดับแรกคือ อุปกรณ์งานก่อสร้าง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ และเครื่องปรับอากาศ และอื่นๆ ได้แก่ สินค้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จากรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในปีงบประมาณ 2565 บริษัทที่ขอรับรอง MiT ได้รับงานทั้งจัดซื้อและจัดจ้างกว่า 1,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าเงินที่ใช้ทำสัญญา 1.02 แสนล้านบาท (หนึ่งแสนสองพันล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนการใช้สินค้า MiT 15% ของงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง ส่งผลให้เกิดการกระจายเม็ดเงินสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับ SMEs ถึงรากหญ้าต่อไป และช่วยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากภาครัฐสู่ผู้ประกอบการ