สศอ.หั่น GDP อุตสาหกรรมปี 66 ติดลบ 2.5–3.0% รับผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอ
สศอ. ชี้ส่งออกภาคอุตสาหกรรมชะลอตัว สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว กดดันดัชนี MPI ปี 2566 ปรับคาดการณ์ ติดลบเพิ่มเป็น 4.0-4.5% ส่วน GDP ภาคอุตฯ คาดว่าหดตัว 2.5–3.0%
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ปรับคาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2566 หดตัว 4.0-4.5% จากประมาณการเดิมลดลง 2.8-3.8% ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 คาดว่าหดตัว 2.5–3.0% จากประมาณการครั้งก่อนคาดว่าจะหดตัว 1.5-2.5% จากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และความขัดแย้งระหว่างประเทศยังยืดเยื้อ
สำหรับดัชนี MPI เดือนก.ย. ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.60 ลดลง 6.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ลดลงเฉลี่ย 6.19% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ระดับ 94.31 ลดลง 5.09%
ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายนอยู่ที่ 58.02% และ 9 เดือนแรก อยู่ที่ 59.83% ส่วนไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ที่เฉลี่ย 58.01% ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังชะลอตัว สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง จากความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังยืดเยื้อ
รวมถึงค่าเงินบาทในเดือนก.ย. 2566 อ่อนค่าลง 4.23% หรือประมาณ 1.50 บาท โดยมีเงินทุนไหลออกประเทศจากความกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้าจากโครงสร้างการส่งออกของภาคการผลิตไทย ไม่ตอบสนองความต้องการของโลกในยุคปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยว 9 เดือนแรก ปี 2566 อยู่ที่ 20 ล้านคนขยายตัว 254.98% ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำตาล การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก ผลิตภัณฑ์นม เบียร์ และเนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น
นอกจากนี้ การเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยภาพรวมเดือนตุลาคม 2566 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง” จากปัจจัยภายในประเทศชะลอตัวตามการลงทุนและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของไทยหดตัวลง จากการนำเข้าสินค้าทุน รวมถึงพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ใหม่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า “ชะลอตัวในช่วงขาลง” จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวการอ่อนค่าของเงินบาท และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศยังมีทิศทางชะลอตัว และส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนก.ย. 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.35% จาก Polyethylene resin, Ethylene และPolypropylene resin เป็นหลัก โดยในปีก่อนมีการลดการผลิตเนื่องจากมี Over supply ในตลาดโลก และมีการหยุดซ่อมบำรุงของผู้ผลิตบางราย
น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 74.64% จากน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และน้ำตาลทรายขาว เป็นหลัก ตามความต้องการของตลาดส่งออก และตลาดในประเทศ ซึ่งการงดส่งออกน้ำตาลของประเทศอินเดียจะส่งผลให้ไทยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น สำหรับตลาดในประเทศขยายตัวตามกิจกรรมเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และมีคำสั่งซื้อของผู้รับซื้อรายใหญ่
สายไฟและเคเบิ้ลอื่นๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.52% จากสายไฟฟ้า เป็นหลัก เนื่องจากมีรอบคำสั่งซื้อจากการไฟฟ้านครหลวง ส่วนภูมิภาค และฝ่ายผลิต รวมถึงงานโครงการของภาครัฐและเอกชนมากขึ้น
เส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 33.12% จากเส้นใยประดิษฐ์อื่น ๆ และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ จากคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย และจีน เพื่อนำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ (หลังคา เบาะ หรือ สายพานต่างๆ) และเสื้อผ้ากีฬา
แปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.84% จากข้าวโพดหวานกระป๋อง กะทิ และน้ำผลไม้ เป็นหลัก โดยข้าวโพดหวานกระป๋อง ได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ส่วนกะทิ ลูกค้ากลับมามีคำสั่งซื้อหลังชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า และน้ำผลไม้ มีการเร่งผลิตหลังเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยวสับปะรดรอบใหม่