'รัฐบาล' ถอยหลังเข้าคลอง แก้ปัญหาน้ำตาล คุมหน้าโรงงาน-ขายปลีก-ส่งออก
ครม.อนุมัติให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม “พาณิชย์” คุมตลอดซัพพลายเชน ตั้งแต่ราคาหน้าโรงงาน ราคาขายปลีก ตั้งเกณฑ์ส่งออกเกิน 1 ตัน ต้องขออนุญาต เบรก สอน.ขึ้นราคาหน้าโรงงาน กก.ละ 4 บาท “ภูมิธรรม” มั่นใจบราซิลไม่ฟ้อง WTO “ทีดีอาร์ไอ” ห่วงอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลถอยหลังเข้าคลอง
การปรับขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงานของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กิโลกรัมละ 4 บาท โดยให้น้ำตาลทรายขาวเพิ่มจาก 19 บาท เป็น 23 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เพิ่มจาก 20 บาท เป็น 24 บาท มีผลวันที่ 28 ต.ค.2566 หลังการประกาศทำให้ห้างค้าปลีกจำกัดการซื้อน้ำตาลทราย เพื่อรอการใช้ราคาใหม่
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ทันทีในวันที่ 30 ต.ค.2566 มีมติ ดังนี้
1.กำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน โดยน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 20 บาท
2.กำหนดราคาน้ำตาลขายปลีก โดยน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 25 บาท
3.กำหนดมาตรการการควบคุมการส่งออกน้ำตาล ซึ่งการส่งออกน้ำตาลเกิน 1 ตัน ต้องขออนุญาต
นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 31 ต.ค.2566 เห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้น้ำตาลทรายกลับมาเป็นสินค้าควบคุมตามมติ กกร. เพื่อให้ใช้ราคาหน้าโรงงานและราคาขายปลีกน้ำตาลเดิมก่อน สอน.จะประกาศราคาหน้าโรงงานขึ้น 4 บาท
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีชี้แจงใน ครม.ถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องนำน้ำตาลกลับมาเป็นสินค้าควบคุม เพราะเป็นต้นทุนสินค้าหลายชนิด โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรการดูแลชาวไร่อ้อยที่อาจได้รับผลกระทบจากการควบคุมไม่ให้ขึ้นราคาน้ำตาล
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมชี้แจงว่าการดูแลชาวไร่อ้อย จะเสนอ ครม.ในอีก 2 สัปดาห์ พิจารณาวงเงินชดเชยการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อย 8,000 ล้านบาท และหากมีมาตรการอื่นที่จะช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพิ่มจะเสนอ ครม.ในคราวเดียวกัน
“ทีดีอาร์ไอ”ชี้ถอยหลังเข้าคลอง
นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า มาตรการของกระทรวงพาณิชย์เข้ามาควบคุมตั้งแต่ราคาหน้าโรงงาน ราคาขายปลีกและการกำหนดเงื่อนไขการส่งออกเกิน 1 ตัน ซึ่งเห็นว่าเป็นแนวทางที่ถอยหลังเข้าคลองย้อนไปก่อนที่จะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งยกเลิกราคาขายปลีกในประเทศ
“มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ทำให้เห็นการไม่ทำการบ้านของรัฐบาล รวมทั้งการไม่เข้าใจอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย”
สำหรับข้อดีตามมาตรการของกระทรวงพาณิชย์มีไม่มาก โดยทำให้ราคาน้ำตาลขายปลีกใกล้เคียงราคาก่อนหน้านี้ แต่ถ้าเปรียบเทียบราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานก่อนการลอยตัวราคาเมื่อปี 2561 จะอยู่ที่ 19-20 บาท
ส่วนราคาขายปลีกที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุมในเขตกรุงเทพฯ อยู่ที่ 23.50 บาท ในขณะที่การเข้ามาควบคุมครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาหน้าโรงงานที่ 19-20 บาท แต่กำหนดราคาขายปลีกที่ 24-25 บาท ซึ่งในต่างจังหวัดราคาบวกเพิ่มค่าขนส่งอีก
ส่วนประเด็นการกำหนดเงื่อนไขการส่งออกเกิน 1 ตัน ต้องขออนุญาต เพราะกระทรวงพาณิชย์รับทราบอยู่แล้วว่าราคาในประเทศและราคาส่งออกมีส่วนต่างมาก จึงได้กำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันการส่งออกของผู้ประกอบการรายเล็ก โดยไทยส่งออกน้ำตาลปีละ 7-8 ล้านตัน
ดังนั้นมาตรการที่กำหนดมาอาจทำให้มีความวุ่นวายมากขึ้นเพราะเป็นมาตรการที่ควบคุมเข้มงวดเกินไป
ค้าน“พาณิชย์”คุมราคาหน้าโรงงาน
นายบุญถิ่น โคตรศิริ กรรมการบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวว่า หากกระทรวงพาณิชย์ต้องการควบคุมราคา ควรเข้ามาควบคุมเฉพาะราคาขายปลีก
ในขณะที่ราคาหน้าโรงงานเป็นราคาที่คำนวณมาจากต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยของชาวไร่และต้นทุนการผลิตน้ำตาล ซึ่งที่ผ่านมา สอน.เป็นเจ้าภาพในการจัดทำต้นทุนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบมาตลอด
“เป็นเรื่องลำบากที่ผู้ผลิตจะขายน้ำตาลต่ำกว่าต้นทุน ในขณะที่ราคาหน้าโรงงานที่ 19-20 บาท เป็นราคาที่มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รวมทั้งเมื่อมีการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ ได้มีการลดราคาหน้าโรงงานลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นมากอยู่ที่ 19-20 บาท”
ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการลอยตัวราคาน้ำตาลนั้น กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าจำเป็นต้องมีการลอยตัว เพื่อลดเงื่อนไขไม่ให้บราซิลยื่อนฟ้องไทยต่อดับเบิลยูทีโอ แต่ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กลับมาควบคุมราคาในประเทศ
“พาณิชย์”ห่วงน้ำตาลส่งออกมากขึ้น
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในรายการกรุงเทพธุรกิจ BIZ INSIGHT ว่า การที่ ครม.มีมติตามข้อเสนอของ กกร.ให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม เพื่อให้เกิดความสมดุลและความเหมาะสม ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ
โดยกรณีขายเกินราคาควบคุมจะมีความผิดตามมาตรา 25 มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีกักตุน ประวิงการจำหน่าย จะมีความผิดตามมาตาม 30 จะมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำตาลทรายในห้างค้าส่งค้าปลีกขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายขาวราคา 24 บาท ส่วนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ราคา 25 บาท ซึ่งยังไม่มีการปรับขึ้นราคานอกจากนี้บางร้านยังมีโปรโมชั่นก็ขายราคา 23 บาท อย่างไรก็ตามราคาในจังหวัดอื่นขึ้นอยู่กับระยะทางและต้นทุนการขนส่งต่อไป
“ปริมาณน้ำตาลในประเทศมีเพียงพอ แม้ว่าปีที่ผ่านมาสถานการณ์แล้งทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง แต่ปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 10 ล้านตันต่อปี บริโภคภายในประเทศ 2.5 ล้านตัน คิดเป็น 25% ส่งออก 7.5 ล้านตันคิดเป็น 75 % ปริมาณไม่มีปัญหา แต่กังวลราคาตลาดโลกสูงแต่ราคาในประเทศต่ำกว่า จะทำให้ส่งออกมากขึ้น จึงมีมาตรการควบคุมการส่งออก”ร.ต.จักรา กล่าว
ร.ต.จักรา กล่าวว่า แม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ราคาในประเทศก็ยังเท่าเดิมตามที่ กกร.กำหนด ซึ่งราคาในตลาดโลกสูงส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศบราซิล โดยราคาการส่งออกน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ 26-27 บาท ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออกและเกษตรกรเพราะราคาตลาดโลกสูง
สำหรับราคาสินค้าที่มีวัตถุดิบน้ำตาลเป็นส่วนประกอบทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ก็จะไม่ทำให้ต้นทุนปรับขึ้นเนื่องจากราคายังเท่าเดิม แต่สินค้ายังมีวัตถุดิบอื่นเป็นส่วนประกอบก็ต้องพิจารณาประกอบกัน เช่น บรรจุภัณฑ์ ค่าขนส่ง อีกทั้งรัฐบาลมีมาตรการลดค่าครองชีพ และลดต้นทุนด้านพลังงานทั้งน้ำมัน และค่าไฟ