มุมมอง ‘TDRI’ เมื่อนายกฯให้ไทยเป็นฐานผลิต ‘รถยนต์สันดาป’ แห่งสุดท้ายของโลก
"ทีดีอาร์ไอ"วิพากษ์นโยบายฐานการผลิตรถยนต์สันดาปคันสุดท้ายของโลก ของ "รัฐบาลเศรษฐา" ชี้มีความท้าทายสูงจากเทรนด์ตลาดรถยนต์โลกและกฎระเบียบมุ่งสู่ EV ชี้หากไทยจะจับตลาดนี้จะได้ส่วนของประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย แอฟริกา ชี้ตลาดนี้อยู่ได้อีก 10-15 ปี
อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย โดยไทยถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาอย่างยาวนาน มีทั้งโรงงานผลิต ประกอบรถยนต์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนจำนวนมากจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ดีทรอยซ์แห่งเอเชีย”
อย่างไรก็ตามจากบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปทั้งเทรนด์การลดมลภาวะ ลดการปล่อยคาร์บอนไดร์ออกไซด์ ที่ทำให้เทรนด์ของรถไฟฟ้า (EV) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่
ในรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ 30@30 เพื่อที่จะเริ่มการผลิตรถ EV ในประเทศไทยให้ได้ 30% ในปี ค.ศ.2030
รวมทั้งการประกาศมาตรการ EV 3.0 เพื่อส่งเสริมตลาดรถ EV ในประเทศซึ่งผลตอบรับทั้งการลงทุน และปริมาณความต้องการรถ EV ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในประเทศถือว่าน่าพอใจ
อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เปิดเผยในเวทีสัมมนาว่าประเทศไทยไม่ลืมบุญคุณญี่ปุ่น ที่เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยเป็นเวลาต่อเนื่องหลายสิบปี
"ไทยจะยังคงเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในและจะผลิตจนคันสุดท้ายของโลก และจะมีการดึงเอาค่ายรถยนต์ที่ยังผลิตรถยนต์ประเภทนี้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น"
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปจัดทำมาตรการที่จูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมนี้ และเตรียมประกาศให้นักลงทุนได้ทราบในการประชุมที่ญี่ปุ่นที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปร่วมการประชุมในเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้
ในการกำหนดนโยบายนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับการกำหนดนโยบายในลักษณะนี้ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในรายงานคิดยกกำลังสอง ทางสถานีไทยพีบีเอสว่าถือว่าเป็นการประกาศนโยบายที่มีความท้าทาย เพราะหากดูภาพในระดับโลก ตลาดรถยนต์เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การขายรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปมีการสนับสนุนการผลิตและใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด “รถ EV” อย่างกว้างขวาง
มีหลายประเทศที่กำหนดปีที่จะยกเลิกการขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปเป็นมาตรการที่สำคัญ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2025 หรือว่าอีก 2 ปีนับจากนี้ แต่ในช่วงเวลาที่จะมีมาตรการเข้มข้นจริงๆก็คือช่วงปี 2030 ไปจนถึงปี 2040 หลายประเทศในยุโรปก็จะไม่สามารถที่จะขายรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปได้อีกต่อไป
นอกจากนี้จะมีในบางเมืองที่เป็นเมืองหลวงมีการกำหนดมาตรการห้ามใช้รถที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปในเมืองชั้นในเพื่อลดปริมาณมลพิษ เช่น ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีการแบ่งพื้นที่การปล่อยไอเสียเป็นโซนชัดเจน หากมีการเข้าไปใจกลางเมืองนั้น มีข้อกำหนดในการห้ามปล่อยไอเสีย หากมีการปล่อยไอเสียที่เป็นมลพิษก็จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมจำนวนมาก
ส่วนรถที่เป็นรถที่ใช้ดีเซลจะเป็นรถที่ต้องผ่านมาตรฐานยูโร 6 และหากเป็นรถที่ใช้น้ำมันเบนซินต้องผ่านมาตรการยูโร 4 หากไม่ผ่านมาตรฐานเหล่านี้ก็จะถูกคิดค่าปล่อยมลพิษเช่นกัน ซึ่งเป็นตัวอย่างของความเข้มงวดในการปล่อยไอเสียของรถและเอามาตรฐานสากลเข้ามากำกับ
ขณะที่ในสหรัฐซึ่งเป็นตลาดรถขนาดใหญ่อีกแห่งของโลกเริ่มมีมาตรการในการห้ามขายรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปเช่นกัน อาทิ
ในแคลิฟอร์เนียห้ามขายรถยนต์ประเภทนี้ในปี 2035 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า และจะขยับไปยังรัฐอื่นๆ ซึ่งแนวโน้มแบบนี้อาจทำให้ตลาดของรถยนต์สันดาปนั้นจะหายไปเร็วกว่าที่เราคิดไว้ได้
ส่วนคำถามว่าในปัจจุบันนี้ใครเป็นคนกำหนดมาตรฐานของรถยนต์ นายสมเกียรติ ระบุว่า ตลาดรถยนต์นั้นมีผู้ผลิตจากหลายประเทศ แต่ประเทศผู้ซื้อที่มีตลาดขนาดใหญ่จะเป็นคนกำหนดมาตรฐาน โดยปัจจุบันตลาดที่กำหนดมาตรฐานรถยนต์นั้นมี 3 แห่งที่สำคัญทั่วโลก คือ
- กรุงบรัสเซล ในเบลเยียม ซึ่งกำหนดมาตรฐานรถของสหภาพยุโรป
- กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนที่กำหนดมาตรฐานตลาดในประเทศจีน
- เมืองแซครามเมนโต เมืองหลวงของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ
สำหรับปัจจุบันตลาดเหล่านี้เน้นรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด ซึ่งถือเป็นผู้กำหนดนโยบาย 60% ทั่วโลก ซึ่งเท่ากับว่ากำหนดมาตรฐานรถยนต์มากกว่าครึ่งของตลาดทั่วโลกซึ่งจะเห็นว่าเป็นตลาดรถยนต์ที่กำลังมุ่งไปที่มีการใช้พลังงานสะอาดมากกว่ารถที่ใช้เชื้อเพลิงแบบเดิม
“ตอนนี้จีนมีมาตรการจูงใจให้คนใช้รถ EV มากกว่า โดยใช้วิธีการอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนรถ หากซื้อรถ EV จะทำได้เร็วกว่า หรือได้ทะเบียนมากกว่า และจีนจะเป็นผู้นำการผลิตรถ EV เนื่องจากมีค่ายรถ EV จำนวนมาก ซึ่งประเทศผู้ผลิตต้องตามเทรนด์ให้ทันว่าตลาดโลกวิ่งไปทางไหน”
อย่างไรก็ตามเมื่อนายกรัฐมนตรีของไทยประกาศว่าประเทศไทยมีนโยบายจะผลิตรถยนต์สันดาปไปจนคันสุดท้ายของโลก
ตลาดการส่งออกรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปยังมีตลาดขนาดใหญ่ในประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่น ในแอฟริกา อินเดีย และในอีกหลายประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าตลาดเหล่านี้จะอยู่ได้อีก 10 ปี แต่ข้อควรระวัง คือ อาจมีความท้าทายว่าตลาดรถยนต์สันดาปจะหดตัวมากและเร็วกว่าที่คิด
รวมทั้งการที่ไทยเปิดตลาดการลงทุนสำหรับรถยนต์สันดาปเพิ่มขึ้นนั้น นักลงทุนจะให้ความสนใจหรือไม่ เพราะการตั้งฐานการลงทุนใหม่นั้นจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ กับตลาดรถยนต์สันดาปที่เหลืออยู่ประมาณ 10-15 ปี ได้มากน้อยแค่ไหน หากเมื่อคำนวณแล้วไม่คุ้มเขาก็อาจจะไม่ลงทุน
“รัฐบาลอาจไม่ควรสนับสนุนรถยนต์สันดาปจนเกินตัว และยาวนานเกินไป โดยแนวนโยบายนั้นยังถูกต้อง แต่สิ่งสำคัญคืออย่าส่งเสริมรถสันดาปเพลินจนเกินพอดี จนลืมการผลิตรถยนต์ของไทยที่ต้องเปลี่ยนไปเป็นรถ EV ให้ทันกับทิศทางโลก”นายสมเกียรติ กล่าว