'มนพร' ตรวจคืบหน้าท่าเรือแหลมฉบัง 3 เอกชนส่งมอบงาน 13.26%
"มนพร" ตรวจคืบหน้าโครงการท่าเรือแหลมฉบัง 3 เอกชนส่งมอบงานแล้ว 13.26% หลังปรับแผนการทำงานใหม่ จากผลกระทบโควิด-19
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคมและคณะฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฎิบัติงานของท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมชมท่าเรือแหลมฉบัง(ระยะที่ 1) บริเวณท่าเทียบเรือ B1 , ท่าเรือแหลมฉบัง(ระยะที่ 2) บริเวณท่าเทียบเรือ D1, ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO : Single Rail Transfer Operator) พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชมความคืบหน้างานก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ระยะที่ 3 - ส่วนที่ 1) จากหอบังคับการพัฒนาแหลมฉบัง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทยพร้อมคณะฯและกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี นำโดย Mr. Cui Jizhong ผู้อำนวยการโครงการ และนางสาวลัลลิฬา จิตร์สม ผู้อำนวยการโครงการร่วมพร้อมคณะฯ ร่วมให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ลงนามสัญญากับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี (CNNC) ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน, บริษัท นทลิน จำกัด และบริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป คอมปานี ลิมิเต็ด (ประเทศจีน) เป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างงานทางทะเล เช่น งานขุดลอกและถมทะเล งานคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเล งานเขื่อนกันคลื่น งานปรับปรุงคุณภาพดิน เป็นต้น
โดยจากข่าวปรากฏก่อนหน้าว่างานก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ระยะที่ 3 - ส่วนที่ 1) (โครงการฯ) ของกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี มีความล่าช้าจากแผนการทำงานประมาณ 40% ของแผนงาน นั้น กิจการร่วมค้าฯ ขอชี้แจงว่า โครงการฯ นี้ ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 มีระยะเวลาดำเนินการ 1,460 วัน นับจากวันเริ่มทำงานตามสัญญา และการท่าเรือฯ ได้แจ้งให้กิจการร่วมค้าฯ เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568
หลังจากนั้นได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และรัฐบาลได้ประกาศมาตรการสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส ห้ามเดินทางหรือเคลื่อนย้าย (ล๊อคดาวน์) ส่งผลให้การก่อสร้างของโครงการฯ ประสบปัญหาการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ วิศวกรผู้ชำนาญการ รวมถึงแรงงาน ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เป็นผลให้การก่อสร้างไม่สามารถเป็นไปตามแผนงานดำเนินการและเกิดความล่าช้า และทุกสัญญาในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐในขณะนั้น ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
โดยหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯคลี่คลายคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ ซึ่งมีรายละเอียด เงื่อนไขในการให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 กับสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ได้มีมาตรการเร่งรัดการปฏิบัติงานสำหรับสัญญาที่ได้รับการช่วยเหลืออัตราค่าปรับเป็นร้อยละ 0 โดยกำหนดแนวทางในทางปฏิบัติต่างๆ มาใช้บังคับเพิ่มเติม เพื่อป้องกันความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ อาทิเช่น การแก้ไขสัญญาและแนวทางการปรับแผนการทำงานใหม่ ฯลฯ
ซึ่งสัญญาโครงการฯ นี้ การท่าเรือฯ ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาตามมาตรการภาครัฐข้างต้น เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 โดยคิดค่าปรับที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าของโครงการฯ ในอัตราร้อยละ 0 จำนวน 422 วัน และได้มีการปรับแก้แผนการทำงานใหม่ ให้สอดคล้องระยะเวลาที่การก่อสร้างโครงการฯ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ จนไม่สามารถทำตามแผนการทำงานเดิมได้ และได้ใช้แผนการทำงานใหม่ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 โดยแผนการทำงานใหม่มีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 29 มิถุนายน 2569
โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ตามแผนการทำงานที่ปรับขึ้นใหม่ตามมาตรการ จะต้องทำงานให้ได้ที่ 15.13% แต่กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี สามารถทำงานส่งมอบให้โครงการฯได้แล้วที่ 13.26% มีความล่าช้าจากแผนฯ เล็กน้อยเพียง 1.87%เท่านั้นและได้ส่งมอบพื้นที่ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 แล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 และวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ตามลำดับ ซึ่งไม่ได้ล่าช้ากว่าแผนฯ กว่า 40% ดังที่ปรากฏตามข่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้กิจการร่วมค้าฯ ขอยืนยันว่ายังคงสามารถดำเนินการโครงการฯ นี้ ได้เสร็จตามแผนการทำงานใหม่ภายในวันที่ 29 มิถุนายน 2569 และตระหนักถึงความสำคัญของโครงการที่มีต่อเศรษกิจของประเทศไทย และทุ่มเทการทำงานร่วมกับรัฐบาล การท่าเรือแห่งประเทศไทย และคณะที่ปรึกษา อย่างเต็มที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างให้สำเร็จลุล่วงอย่างมีคุณภาพ ตามระยะเวลาและเป้าหมายของโครงการฯ และเพื่อประโยชน์ต่อประเทศไทย และประชาชนคนไทยทุกคน