ตีความเมื่อเฟดถอนคันเร่งการขึ้นดอกเบี้ย

ตีความเมื่อเฟดถอนคันเร่งการขึ้นดอกเบี้ย

วันพุธที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 5.25-5.50 เป็นครั้งที่สองตามที่ตลาดคาดการณ์ ตลาดหุ้นสหรัฐปรับขึ้นตอบรับข่าว

ขณะที่นักวิเคราะห์ประเมินว่าวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอาจจบแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าว ประธานเฟดยํ้าว่า การไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้หมายความว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่ขึ้นต่อ และคําถามว่าอัตราดอกเบี้ยควรปรับขึ้นอีกหรือไม่ยังมีอยู่ ซึ่งเฟดจะตัดสินใจในการประชุมแต่ละครั้งตามข้อมูลเศรษฐกิจที่จะออกมา

คําถามคือเราควรตีความการตัดใจของเฟดในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมาอย่างไร นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพุธที่แล้ว เป็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 5.25-5.50 เป็นครั้งที่สองต่อจากการประชุมครั้งก่อนหน้า

โดยเฟดให้เหตุผลว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดสภาพคล่องที่เฟดได้ทํามาต่อเนื่อง ทําให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 สูงสุดในรอบ 22 ปี และเฟดได้ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบัตรสหรัฐ

ตีความเมื่อเฟดถอนคันเร่งการขึ้นดอกเบี้ย

คือ ลดสภาพคล่องในระบบการเงินไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ตลาดการเงินตึงตัว เศรษฐกิจสหรัฐชะลอ และอัตราเงินเฟ้อลดลง

แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมาตรการที่ทําไปทั้งหมดยังไม่ส่งผลเต็มที่ คือยังสะสมอยู่ในระบบ ทําให้เฟดต้องระมัดระวังในการตัดสินใจ โดยจะตัดสินใจในการประชุมแต่ละครั้งตามข้อมูลที่จะออกมา

ในแง่ภาพรวมเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้ดีมาก เศรษฐกิจขยายตัวเข้มแข็ง ตลาดแรงงานตึงตัว และอัตราเงินเฟ้อโน้มลดลง โดยจีดีพีสหรัฐไตรมาสสามขยายตัวสูงถึงร้อยละ 4.9 เกินความคาดหมาย

ขับเคลื่อนโดยการบริโภคของภาคครัวเรือน ภาคอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนภาคเอกชนชะลอตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ตลาดแรงงานตึงตัวตามการขยายตัวของเศรษฐกิจแต่มีความสมดุลมากขึ้น คือมีการจ้างงานใหม่เพิ่มเฉลี่ย 266,00 คนต่อเดือน สอดคล้องกับความต้องการแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้แรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานลดลง

ตีความเมื่อเฟดถอนคันเร่งการขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนอัตราเงินเฟ้อขณะนี้เป็นขาลง ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 3.4 สูงกว่าเป้าระยะยาวที่ร้อยละ 2 ซึ่งเฟดยอมรับว่าการปรับลงของอัตราเงินเฟ้อสู่เป้าหมายร้อยละ 2 จะใช้เวลาคือเป็นการเดินทางไกล และจะต้องการนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าแนวโน้มระยะยาวพร้อมกับความตึงตัวในตลาดแรงงานผ่อนคลายลง

แต่ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวดี ตลาดแรงงานตึงตัว แรงกดดันต่อเงินเฟ้อก็จะเพิ่มมากขึ้น ทําให้จําเป็นที่อัตราดอกเบี้ยอาจต้องปรับสูงขึ้น นี่คือภาพที่ธนาคารกลางสหรัฐมองขณะนี้ในแง่เงินเฟ้อและทิศทางนโยบายการเงิน

เทียบกับการประชุมครั้งก่อนๆ การประชุมคราวนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจสองสามเรื่องจากการตัดสินใจและการสื่อสารของธนาคารกลางสหรัฐโดยเฉพาะจากประธานเฟดที่ตอบคําถามผู้สื่อข่าวในช่วงแถลงข่าว ทำให้เข้าใจว่าทำไมเฟดจึงย้ำว่าการตัดใจของเฟดจากนี้ไปจะอิงภาวะในตลาดการเงินและข้อมูลเศรษฐกิจเป็นหลัก

หนึ่ง สังเกตว่าในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมาเฟดจะยํ้าถึงความระมัดระวังในการตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงินมากกว่าทุกครั้ง พูดเรื่องความระมัดระวังอย่างน้อยสองถึงสามครั้งในการแถลงข่าว

ส่วนหนึ่งก็เพราะเฟดคงระวังที่จะไม่ทํามากเกินไปหรือเร็วเกินไปในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาถึงร้อยละ 5 ถือว่ามาก และเศรษฐกิจสหรัฐก็ชะลอแม้จะยังขยายตัวดี แต่ผลสะสมของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ได้ทําไปยังมีอยู่ในระบบเศรษฐกิจซึ่งอาจทําให้เศรษฐกิจชะลอลงมากขึ้นในระยะต่อไป

ตลาดการเงินก็คาดการณ์ในทํานองเดียวกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอลงจากนี้ไป ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถ้าไม่ระวัง อาจซํ้าเติมให้เศรษฐกิจชะลอมากกว่าที่ควรจะเป็น

สอง การปรับขึ้นต่อเนื่องของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond yield) ได้ถูกนํามาสื่อสารว่า ภาวะในตลาดการเงินสหรัฐมีการตึงตัวต่อเนื่อง และภาวะตึงตัวนี้เกิดขึ้นแม้อัตราดอกเบี้ยนโนยายจะไม่ได้มีการปรับขึ้นในช่วงสองการประชุมที่ผ่านมา

ตีความเมื่อเฟดถอนคันเร่งการขึ้นดอกเบี้ย

แสดงถึง การปรับตัวของตลาดการเงินในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายการเงิน คือภาวะการเงินตึงตัว อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยชะลอการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งเฟดจะติดตามอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวในการประเมินภาวะการเงิน ควบคู่ไปกับอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

อ่านระหว่างบรรทัดก็คือ การปรับขึ้นของผลตอบแทนระยะยาวของพันธบัตรรัฐบาลอาจมีส่วนทําให้ความจำเป็นที่เฟดต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้ภาวะการเงินตึงตัวต่อเนื่องนั้นลดลง

สาม เฟดพูดถึงความสำคัญของการมีภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวอย่างเพียงพอและต่อเนื่องเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อสู่เป้าร้อยละสองในระยะยาว

ดังนั้น ในการประชุมแต่ละครั้งเฟดจะประเมินภาวะการเงิน ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ผลสะสมต่อเศรษฐกิจของนโยบายที่ทําไป รวมถึงความล่าช้าในแง่เงื่อนเวลาหรือ lag ที่นโยบายการเงินที่ได้ทําไป จะมีผลต่อเศรษฐกิจ

ตีความเมื่อเฟดถอนคันเร่งการขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งหมดชี้ว่าในสายตาเฟดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ได้ทำมาถึงจุดที่ต้องระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้นโยบายการเงินเข้มงวดเกินไป คือเหมือนใกล้ถึงปลายทางของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทําให้ต้องละเอียดในการตัดสินใจ ต้องมองกว้างในทุกๆเรื่อง แต่ยังไม่จบ

การประชุมเฟดครั้งต่อไปจะมีในวันที่ 12-13 เดือนหน้า ซึ่งถ้าตัวเลขทุกอย่างไม่เปลี่ยนมากและเฟดประเมินว่าภาวะการเงินตึงตัวมากพอแล้ว การตัดสินใจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่สามก็มีความเป็นไปได้

ตีความจากเหตุผลที่เฟดใช้ในการประชุมล่าสุดเมื่อวันพุธ แต่จะจริงหรือไม่แค่ไหนเป็นเรื่องที่ต้องตามดู

ตีความเมื่อเฟดถอนคันเร่งการขึ้นดอกเบี้ย

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]