สศค.ประเมินเศรษฐกิจไทยไม่เผชิญภาวะเงินฝืด
สศค.ระบุ เงินเฟ้อไทยในระยะถัดไปอาจยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวจากราคาสินค้าหลายชนิดที่ปรับตัวลดลง แต่อาจเป็นไปในระยะสั้นและยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด เหตุมีแนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ส่งผลต้นทุนการผลิตสินค้าพุ่ง
นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กรณีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไทยเดือน ต.ค. 66 หดตัว -0.3% โดยระบุ เบื้องต้น สศค. มองว่า ยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด โดยสาเหตุหลักที่เงินเฟ้อลดลงจากหมวดพลังงานเป็นหลัก โดยหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง-0.19% และหมวดไฟฟ้าน้ำประปาและแสงสว่าง-3.15%ลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงหมวดอาหารสด โดยเฉพาะหมวดเนื้อสัตว์-17.85% ที่ลดลงจากปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก
ขณะที่ ราคาสินค้าประเภทอื่นยังขึ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อาทิ หมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง + 4.79%หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์+2.62% และหมวดอาหารสำเร็จรูป +1.44%เป็นต้น รวมถึงปัจจัยฐานสูงของปีก่อนหน้าที่ทำให้เงินเฟ้อไทยชะลอตัวลงค้อนข้างมากในเดือน ต.ค.66
นอกจากนี้ สศค. มองว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยให้เงินเฟ้อฝั่งอุปทานขยายตัวขึ้นได้ในอนาตค
ดังนั้น การลดลงของเงินเฟ้อไทยในระยะถัดไป อาจยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อไปได้ เนื่องจากราคาสินค้าหลายชนิดที่ปรับตัวลดลงจากปีก่อน อย่างไรก็ดี สศค. มองว่า อาจเป็นไปในระยะสั้นและยังไม่เกิดเงินฝืด เนื่องจากยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในอนาคตเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 66 และ ปี 67 จะอยู่ที่ 1.5%และ 2.3%ตามลำดับ
สำหรับภาวะเงินฝืด คือ การลดลงของระดับราคาทั่วไปของสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สะท้อนผ่าน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ติดลบ กล่าวคือ ระดับราคาทั่วไปกำลังถูกลงหรือ เงินในมือของเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น