สรท.ประเมินส่งออกปี 67 เจอปัจจัยท้าทายเพียบ คาดโต 0-2%
สรท.ประเมินการส่งออกไทยปี 67 ขยายตัว 0-2% จากปัจจัยเสี่ยงภายนอก ขณะที่ไตรมาสปี 66 คาดส่งออกไทยเป็นบวก 7 % ทำให้ทั้งปีส่งออกไทยติดลบอยู่ 1 % ถึง ติดลบ 1.5 % ส่วนโครงการแลนด์บริดจ์ขอศึกษให้รอบด้านก่อนแถลงจุดยืน
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 ยังต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆจากความไม่แน่นอน ปัจจัยภายนอกที่รู้และยังไม่รู้ ซึ่งประเมินยากมาก แต่สรท.คาดว่าปีหน้าการส่งออกไทยจะกลับมาเป็นบวกแน่นอน แต่ไม่มาก ราว 0-2% เฉลี่ยจะต้องส่งออกได้เดือนละ23,500 -23,900 ล้านดอลลาร์ ต้นทุนวัตถุดิบสูง เช่น ราคาพลังงาน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหาเอลนีโญ
โดยปัจจัยเสี่ยงในปี 67 ที่สรท.ประเมินไว้คือผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส และสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย แม้ขณะนี้ยังไม่ได้ขยายวงกว้าง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป และจีน
สำหรับการส่งออกในปี 2566 จะติดลบไม่มาก หลังแนวโน้มการส่งออกกลับมาเป็นบวก 2 เดือนต่อเนื่อง ล่าสุดในเดือนก.ย.การส่งออกไทยพบว่า การส่งออกมีมูลค่า 25,476.3ล้านดอลลาร์ขยายตัว 2.1% คาดว่าในช่วง 3 เดือนที่เหลือการส่งออกของไทยน่าจะเป็นบวกได้ต่อเนื่องจากคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้และจะทำให้ไตรมาส 4 การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 7 % โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เป็นตัวนำการส่งออกของไทยยังเป็นสินค้าเกษตร ทั้งข้าว ผลไม้ มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ยานยนต์ และชิ้นส่วน สินค้าเกษตร
“ภาพรวมส่งออกไทยปี66 คงติดไม่มาก น่าจะอยู่แค่ -1% ถึง- 1.5% มูลค่า 283.100 -284,600 ล้านดอลลาร์ โดยหากการส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 23,800 ล้านดอลลาร์ จะทำให้การส่งออกปีนี้หดตัว -1% แต่หากเฉลี่ยเดือนละ 23,300 ล้านดอลลาร์ จะทำให้การส่งออกหดตัว -1.5% แต่มูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนคงไม่ลดลงมากจนเหลือ 22,800 ล้านดอลลาร์ที่จะทำให้การส่งออกปีนี้หดตัวไปถึง 2% “นายชัยชาญ กล่าว
สำหรับข้อกังวลเรื่องสงครามในตะวันออกกลางนั้น ยังไม่ส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยมากนัก เพราะยังอยู่ในวงจำกัดทั้งพื้นที่และคู่ขัดแย้ง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน แม้จะมีความผันผวน แต่อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก ที่ระดับ 35.50-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนปัญหาค่าระวางเรือหมดไป ยังไม่มีสัญญาณการส่งออกชะลอตัวหรือหยุดชะงัก อีกทั้งไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้ส่งสินค้า
ทั้งนี้ส่งออกไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจาก อัตราดอกเบี้ยโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้ภาคการผลิตตึงตัวแต่หากดูทิศทาง PMI แล้วจะพบว่ายังอยู่ในระดับทรงตัว ไม่ได้ลดต่ำลงจาก 6 เดือนที่ผ่านมา แสดงว่าผู้ประกอบการยังสามารถประคับประคองตัวไปได้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบทรงตัวอยู่ในระดับสูง เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นแต่ก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆไม่ได้พุ่งสูง ซึ่งผู้ประกอบการยังสามารถบริหารจัดการได้
นายชัยชาญ กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลจะเดินหน้า ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผลศึกษาจากหลายสถาบันแล้ว แต่ปัจจุบันปัจจัยต่างๆได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งสรท.อยู่ในระหว่างการศึกษาให้รอบคอบก่อนจะออกเป็นความเห็นหรือจุดยืนของสรท.อย่างเป็นทางการ เพราะเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวจำเป็นต้องรอบคอบ โดยจะต้องดูทั้งข้อเท็จจริง ผลได้ผลเสีย สิ่งแวดล้อม ผลกระทบ และความคุ้มค่า โดยสรท.จะแถลงจุดยืนในเรื่องนี้ประมาณ1-2 สัปดาห์นี้