'ประสาร ไตรรัตน์วรกุล' แนะลงทุนมนุษย์ แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้นเหตุ
“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ประธานกรรมการ ตลท. และอดีตผู้ว่าการ ธปท. ยก "3 เสาหลัก" ต้องเร่งดำเนินการ พลิกฟื้นให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป และเห็นตัวเลขจีดีพีที่ระดับ 5%
หลังจากรัฐบาลที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ก้าวเข้ามาบริหารประเทศได้ประกาศเป้าหมายสำคัญ นั่นคือ การผลักดันอัตราการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ในช่วง 4 ปี ตามวาระการดำรงแหน่ง ให้เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ซึ่งจะมีทั้งการทำนโยบายทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุน
ตัวเลขจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 5% ทุกคนล้วนอยากให้เป็นความจริง เพราะจะสะท้อนถึงความกินดีอยู่ดีของคนไทย และเป็นการกลับมาเติบโตในระดับศักยภาพ (potential growth) ซึ่งล่าสุด ธนาคารโลกประเมินไว้ที่ 3% อีกด้วย
แต่หากกลับมามองภาพเศรษฐกิจในปี 2566 นี้ สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจต่าง ๆ ประเมินว่าจีดีพีไทย ยังเติบโตในระดับต่ำกว่า 3% ดังนั้น ถ้าอยากเห็นจีดีพีเฉลี่ยปีละ 5% ใน 4 ปี วาระที่เหลืออยู่รัฐบาลคงต้องทำงานอย่างหนัก เพราะเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงและความท้าทาย ทั้งจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง การเข้าสู่สังคมสูงวัย หนี้ครัวเรือนที่สูง ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลดลง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มุมมองต่อกรณีดังกล่าวของ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่า ถ้าเราอยากจะให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป อยากเห็นการเติบโตที่ระดับ 5% การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ๆ จะส่งผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจ ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญและแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งมี "3 เสาหลัก" ที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่
เสาหลักที่ 1 ผลักดันนโยบายที่เสริมเรื่องความสามารถทางการแข่งขันของเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมองให้ครอบคลุมทุกบริบท เช่น การพัฒนาคน พัฒนาทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยี พัฒนาฐานการลงทุนใหม่ พัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ เป็นต้น โดยต้องสร้างให้ระบบเศรษฐกิจเป็นระบบที่ทำน้อยได้มาก
เสาหลักที่ 2 ลดความปัญหาเหลื่อมล้ำ ใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับปัจเจก ต้องเสริมทักษะแรงงานให้แก่แรงงานไร้ทักษะ ที่มีสัดส่วนถึง 50% ของแรงงานทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และในระยาวต้องพัฒนาด้วยระบบการศึกษา ระดับชุมชน ต้องเข้าไปดูว่าชุมชนควรจะได้รับการสนับสนุนอะไร เช่น เงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน การตลาดฯ โดยประสานกับผู้นำชุมชนเพราะผู้นำชุมชนจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ระดับประเทศ มุ่งสร้างความมั่นคงในชีวิตที่จะลดความเหลื่อมล้ำ
จากการศึกษาพบว่าภาครัฐมีการดำเนินโครงการเรื่องสวัสดิการรักษาโรคกว่า 40 โปรแกรม แต่ปัญหาคือไม่มีการเชื่อมโยงกัน ควรจะมีหน่วยงานที่เห็นภาพรวม ในการทำนโยบายและจัดสรรทรัพยากร ปัจจุบันเป็นการทำนโยบายแบบเบี้ยหัวแตก ใช้งบประมาณมากแต่ประสิทธิผลน้อย
เสาหลักที่ 3 พัฒนาคุณภาพของภาครัฐ จำเป็นว่าต้องทำในเรื่องการปรับปรุงการทำงานกลไกภาครัฐ ทั้งภาคการเมืองและภาคราชการ ควรทำงานแบบเชื่อมประสานกันและควรมีหน่วยงานกลางที่เป็นผู้รับผิดชอบ (Accountability) เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ จัดสรรทรัพยากร มีการติดตามและให้ Feedback ดำเนินการของภาครัฐในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“จากประสบการณ์ที่ทำมาหลายเรื่อง ท้ายที่สุดอยู่ที่คุณภาพคน ถ้าให้เลือกหนึ่งอย่าง มองว่าการลงทุนพัฒนาคุณภาพคนเป็น investment ที่คุ้มมากที่สุด ตั้งแต่ครรภ์มารดา จะเป็นการแก้ที่ต้นเหตุและจะสามารถแก้ปัญหาโครงสร้างทั้ง 3 เสาหลัก เพราะด้านความสามารถในการแข่งขัน เรื่องทักษะแรงงานสามารถเรียนรู้กันได้ เมื่อการศึกษาดี มีทักษะแรงงาน สามารถสร้างรายได้ดีจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนส่งเสริมให้ภาครัฐมีการทำงานที่เชื่อมโยงประสานกัน”
นายประสาร กล่าวด้วยว่า ทางการเมืองรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศด้วยกรอบเวลาตามวาระเพียง 4 ปี หรืออาจจะบางรัฐบาลอาจจะอายุสั้นกว่านี้ ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะเวลาจำกัดจึงต้องใช้มาตรการกระตุ้น
อย่างไรก็ตาม หากจะแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ พัฒนาคน เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและต้องทำเป็นนโยบายระยะยาว จะมีวิธีการที่เราจะสามารถผสมผสานวัตถุประสงค์ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นกับนโยบายส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวได้หรือไม่
ยกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ผิดหรือถูกกาลเวลาจะพิสูจน์ คือ การทำนโยบายเศรษฐกิจ Inflation Reduction Act (IRA) หรือกฎหมายลดเงินเฟ้อของสหรัฐ ในมุมมองนักรัฐศาสตร์จะมองว่าเอาไว้สู้กับจีน เพราะธุรกิจสหรัฐออกไปลงทุนต่างประเทศและลงทุนในจีนจำนวนมาก แต่ IRA ใช้การลดภาษีเพื่อจูงใจให้ธุรกิจสหรัฐกลับมาลงทุนในประเทศ ซึ่งต้องเป็นธุรกิจพลังงานทางเลือก ชิป เอไอ และอื่น ๆ ถ้ามองให้ดีจะเป็นการผสานนโยบายประชานิยมระยะสั้นโดยใช้นโยบายภาษีและนโยบายการคลังกระตุ้นแต่เป็นการกระตุ้นการลงทุนดึงภาคเอกชนของสหรัฐให้กลับมาลงทุนในประเทศ
มองว่า "ไทย" เราเองก็มีโอกาสที่จะสามารถทำได้ลักษณะเช่นเดียวกันได้หากช่วยกันคิดช่วยกันคิด โดยระยะหลังที่ได้เข้าไปทำงานด้านการศึกษากับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีโครงการหนึ่งที่น่าสนใจคือ สนับสนุนทุนให้เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ หลักสูตร 1 ปี ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเรียนจบก็มีรายได้กลับไปช่วยครอบครัวให้หลุดจากความยกจนได้
หากใช้โครงการนี้เป็นต้นแบบขยายออกไป อย่างสังคมสูงอายุ ต้องการผู้ช่วยพยาบาล ก็สามารถใช้รูปแบบเดียวกันนี้ได้ ซึ่งมองว่าได้ทั้งเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะใช้รายจ่ายภาครัฐช่วย ได้ทั้งเรื่องสร้างทักษะแรงงาน และได้เรื่องความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ แทนที่จะแจกเงินเพื่อการอุปโภคบริโภคเพราะแม้ว่าจะทำได้ง่ายและเร็ว แต่ผลต่อเศรษฐกิจจะสามารถหมุนรอบได้มากน้อยแค่ไหน
นายประสาร ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยปัจจุบันด้วยว่า เศรษฐกิจไทยในเชิงเปรียบเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ ในกรอบเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 จนถึงปัจจุบันแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ถือว่ามีพัฒนาการที่ดีหลายอย่าง ขนาดเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาถึง 10 เท่า ด้านรายได้ประชากรต่อหัว (Per capita income) เติบโตขึ้นหลุดพ้นจากความยากจน ภาคธุรกิจเอกชนเติบโตเข้มแข็ง สามารถขยายการลงทุนไปต่างประเทศได้ ขณะที่ภาคการเงินมีความยืดหยุ่น (Resilience) ทนทานต่อแรงกระทบต่าง ๆ เมื่อเกิดความผันผวนและวิกฤตที่เกิดขึ้นได้
“เศรษฐกิจไทยคล้ายคนในกลุ่ม Baby Boomer ที่ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว ขยันอดทน ประหยัดอดออม ใช้ชีวิตผ่านความยากลำบากมาก่อน เจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ แต่ก็คนในกลุ่ม Baby Boomer ก็มีปัญหาอยู่ในตัว มีคนส่วนหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำ และคนในกลุ่ม Baby Boomer ต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ทั้งเทคโนโลยี แวดวงของโลกระหว่างประเทศ กฎเกณฑ์ใหม่ ซึ่งต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”
นายประสาร กล่าวอีกว่า ถ้าถอยหลังกลับไปช่วงปี 2530-2540 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 8-10% เราก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (Upper middle Income) รายได้ประชากรต่อหัวเฉลี่ยที่ 6,000-7,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน
แต่เมื่อเติบโตเร็วจุดหนึ่งก็เริ่มอิ่มตัว เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงและเมื่อไม่มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ๆ ประกอบอีกปัจจัยที่บั่นทอนประเทศของเราอยู่ คือ เรื่องธรรมาภิบาล (Good Governance) ที่อ่อนแอ เลือกปฏิบัติ ทำให้ขาดความเชื่อมั่น การลงทุนไม่เข้ามา ซึ่งปัญหา disgovernance เป็นเหมือนหลุมดำฉุดเศรษฐกิจไทย หากส่งเสริมและยกระดับได้จะเป็นปัจจัยที่หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนได้ดีเหมือนอย่างสิงคโปร์
นายประสาร กล่าวว่า ระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี เรายังคงเป็นรายได้ปานกลางระดับบน หากจะก้าวไปเป็นประเทศรายได้สูง หรือมีรายได้ประชากรต่อหัวเฉลี่ย 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ช่องว่างด้านรายได้ค่อนข้างกว้าง
อย่างไรก็ตาม หากมองพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแล้ว จากเดิมน้ำเต็มแก้วปัจจุบันเหลืออยู่ครึ่งแก้วเรายังมีฐานรองรับยังมีน้ำอีกครึ่งแก้ว เมื่อน้ำพร่องไปก็ต้องเติม เรายังมีเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลายตัวที่เป็นโอกาส แต่คงไม่สามารถเลือกได้ทั้งหมด ต้องพิจารณาในเรื่องต้องการของตลาดโลก
รวมทั้ง ต้องพิจารณาภูมิหลังและฐานเดิมของเราเพื่อนำไปต่อยอดขยายรองรับความต้องการในระยะเวลาอันสั้น เช่น เรามีภูมิหลังที่ดีมากในเรื่องเกษตรซึ่งจะต่อยอดไปเรื่องอาหารได้ ด้านธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว สามารถต่อยอดไปในธุรกิจเฮลแคร์ ด้านบริการทางการแพทย์ค่อนข้างดีแต่กระจุกตัวสามารถกระจายออกไปได้ เป็นต้น
จึงต้องจัดลำดับและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่มีความพร้อมก่อน ทั้งนี้ คนในกลุ่ม Baby Boomer ก็ต้องเปิดใจว่าคนในกลุ่ม Gen-X Gen-Y Gen-Z อาจจะมีเรื่องที่เก่งกว่าเราและคนเหล่านี้ต้องทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป