คนแก่ล้น เด็กไทยไร้คุณภาพ โจทย์ใหญ่ไทยไปต่อไม่ไหวถ้าไม่เริ่มเปลี่ยน
“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” กางโจทย์ใหญ่ประเทศที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตเต็มประสิทธิภาพ คงต้องยก 4 ปัจจัยสำคัญ “ประชากรลด-ผู้สูงอายุเพิ่ม-เงินทุน-เทคโนโลยี”
ไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 2/2566) “จีดีพี” ประเทศขยายตัวเพียง 1.8% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่า จะเติบโตเฉลี่ย 3% อีกทั้งยังชะลอตัวลงหากเทียบเคียงกับไตรมาสแรกเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจไทยอ่อนกำลังลงโดยเป็นผลพวงจากเครื่องยนต์หลักอย่าง “การส่งออก” ที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาร่วม 10 เดือนแล้ว แม้ภาคบริการเริ่มกลับมาคึกคัก การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวดีแต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะติดสปีดประเทศได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยติดกับดักสำคัญคือ “คุณภาพประชากร” ทั้งการเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หนุ่มสาววัยทำงานลดลง รวมถึงเด็กๆ เยาวชนในวัยเรียนก็ขาดพร่องเรื่องคุณภาพการศึกษาต่อเนื่องมาร่วม 20 ปี ทั้งหมดนี้คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยติดหล่มจนยากจะหลุดพ้นในเร็ววันได้
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กางโจทย์ประเทศไทยที่เป็นตัวฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ 4 ส่วนด้วยกัน ประการแรก คือ "จำนวนประชากรที่ลดลง" ดร.ศุภวุฒิ ให้ความเห็นว่า อีก 20 ปีข้างหน้าประชากรวัยทำงานจะหายไปราว 7 ล้านคน
โดยขณะนี้ไทยเริ่มมีนโยบายนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมาอุดรอยรั่วดังกล่าวแล้ว ปัญหาที่ตามมาหากประชากรลดน้อยลงเรื่อยๆ จะทำให้เกิด “โดมิโน่เอฟเฟ็กต์” ไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ อาทิ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ความต้องการปัจจัยเหล่านี้จะลดน้อยลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือประเทศจีนที่มีโครงสร้างประชากรใกล้เคียงกับไทย อัตราการเกิดต่ำ และกำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ประการที่สอง คือ "จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น" ปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน มีตัวเลขประมาณการว่า อนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ทำให้ภาครัฐต้องใช้งบประมาณไปกับการดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ
ประการที่สาม คือ "ปัจจัยเรื่องเงินทุน" ที่ยึดโยงกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของยักษ์ใหญ่ทั้งสหรัฐและยุโรป
และประการสุดท้าย คือ "เทคโนโลยี" หากต้องการผลักดันให้ประเทศเติบโตในระยะยาวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีนั้นคนทำงานต้องมีองค์ความรู้ในการใช้งานเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ได้เป็นอย่างดี คำถามสำคัญ คือ ประเทศไทยพร้อมมากแค่ไหน การศึกษาในประเทศเราผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพียงพอแล้วหรือยัง
“การศึกษาต้องดีมาก นักศึกษาจบใหม่ต้องใช้เทคโนโลยีได้ ที่ผ่านมาเรามีการประเมินคะแนน “PISA Score” หรือโปรแกรมการประเมินวัดระดับนักเรียนทั่วโลกที่จัดโดย “OECD” ปรากฏว่า ประเทศเราคะแนนตกต่อเนื่องมา 20 ปี มีคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ถ้าสามอย่างพื้นฐานนี้ไม่ดีก็เดินต่อไม่ได้ ใช้เรื่องเทคโนโลยีไม่ได้ ถ้าจำนวนคนแก่เรามากขึ้น คนทำงานน้อยลงแล้วเด็กๆ คุณภาพดีก็โอเค แต่ตัวนี้ออกมาก็ไม่ดีอีก กระทั่งคนวัยทำงานก็ต้องมีโอกาสในการ Upskill & Reskill เวลาเราพูดถึงเทคโนโลยีไม่ใช่เอามาวางแล้วทุกคนจะทำได้เลย ฉะนั้น เรื่องจำนวนประชากรกับเรื่องเทคโนโลยีต้องไปด้วยกัน จะแก้ได้เป็นเรื่องยาก เพราะการปฏิรูปการศึกษาพูดแล้วพูดอีกก็ไม่ได้ทำกันจริงๆ”
ดร.ศุภวุฒิ มองว่า การศึกษาเป็นอย่างแรกที่ต้องเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากจะใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องยนต์หลักในการยกเครื่องเศรษฐกิจก็ต้องย้อนกลับไปถึงเรื่องการศึกษาซึ่งทุกอย่างส่งผลต่อเนื่องกันทั้งหมด
โดยปัญหาของโรงเรียนไทยมีลักษณะเป็น “งูกินหาง” ตั้งแต่โรงเรียนระดับประถมศึกษาที่มีมากเกินไป จำนวนครูผู้สอนที่ไม่เพียงพอเพราะไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนหนังสือแต่ยังต้องรับผิดชอบงานธุรการ บริหารจัดการพัสดุต่างๆ หากยุบโรงเรียน-แก้กฎกระทรวงให้จำนวนนักเรียนต่อหนึ่งโรงเรียนเพิ่มขึ้นก็จะมีปัญหาเรื่องการเดินทางของนักเรียนตามมาภายหลังอีก แต่ถ้าไม่เปลี่ยนตั้งแต่วันนี้ประเทศก็ไม่สามารถไปต่อได้เต็มศักยภาพ
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบเฉพาะใน “อาเซียน” แล้ว จากในอดีตที่ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่าเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” แต่มาวันนี้ “อินโดนีเซีย” และ “เวียดนาม” กำลังเนื้อหอม เป็นที่หมายปองของต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
การไหลเข้าของเงินลงทุนเป็นอีกปัจจัยที่สะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโต เพราะเงินลงทุนมักอยู่ในที่ที่นักลงทุนมองเห็นว่า สามารถทำกำไรได้ ที่ผ่านมา “ไทย” เป็นเป้าหมายสำหรับการปักหมุดลงทุนสร้างฐานการผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นมากมาย มาวันนี้ปัจจัยหลายอย่างทำให้ไทยโดดเด่นน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงแทน
“ที่น่าสนใจมาก คือ อินโดนีเซียกับเวียดนาม สองประเทศนี้มีศักยภาพดีกว่าเราในสองมิติหลักๆ คือมีประชากรจำนวนมากและยังไม่ได้เข้าสู่สังคมสูงอายุ เวลานักลงทุนไปลงทุนต่างประเทศเขาไปเพื่อขายภายในประเทศนั้นก่อนแล้วค่อยๆ ขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศ ตอนนั้นเขาก็ทำกับไทยเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นมาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยขายในไทย 90% ส่งออก 10% ทุกวันนี้อัตราส่วนแบ่งเป็น 50:50 มาถึงวันนี้ก็ไม่รู้จะมาลงในไทยทำไม หรือถ้าพูดถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เราไม่มีการผลิตอะไรในส่วนนี้เลย อนาคตอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไปหมดแน่และจะถูกลดขนาดการผลิตลงอย่างแน่นอน คำถามคือถึงตอนนั้นเราจะไปต่ออย่างไร”
อนาคตประเทศไทยหลังจากนี้ไม่ง่าย และหากไม่แก้ที่ปมหลักอย่างเรื่องคุณภาพคนทั้งเด็กรุ่นใหม่ คนวัยหนุ่มสาว รวมถึงผู้สูงอายุประเทศจะไปต่อลำบาก นอกจากเรื่องการส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่อง อุตสาหกรรมการผลิตที่ยากจะหวังพึ่งได้เหมือนอดีต
เรื่องของการท่องเที่ยวเอง ดร.ศุภวุฒิมองว่า ประเทศไทย “เก่งและเฮง” ในเวลาเดียวกัน ขณะนั้นชาวจีนนิยมเที่ยวไทยจากภาพยนตร์ “Lost in Thailand” ดันการท่องเที่ยวสู่เครื่องยนต์หลัก แต่มาวันนี้เรายังต้องการผลักดันท่องเที่ยวต่อหรือไม่ จะทำให้การท่องเที่ยวมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างไร ต่อยอดสู่ “Medical Tourism” ได้หรือไม่ หลังจาก “สิงคโปร์” นำหน้าเราไปไกลมากแล้ว ประเทศไทยต้องหา “นิช มาร์เก็ต” ของตัวเองให้เจอพร้อมกับแก้ไขพัฒนาเรื่องคนไปด้วย นี่คือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยไปต่อได้
“เราเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นผืนเดียวกัน คือภาคใต้ของจีน กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า ตรงนี้มีแนวโน้มจะเป็นตลาดใหญ่ มีประชากร 300 กว่าล้านคน ตรงนี้ก็ยังเป็นพื้นที่ที่ถ้าจะซื้อของต้องซื้อของไทยเพราะคุณภาพดีที่สุด ละครไทยสนุกสุด ถ้าเราทำดีๆ เรายังทำได้ ทุเรียนส่งออกไปจีน ผลไม้ดี สินค้าอุปโภคบริโภค การรักษาพยาบาล เรายังพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ได้ อาหารการกินต่างๆ อาจไปถึงระดับโลกได้ ในฮอลลีวูดก็มีอาหารไทยไปปรากฏ เรามีของพวกนี้ มีศักยภาพ เพียงแต่ว่าต้องสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ เก่ง รู้ภาษา รู้เรื่องเทคโนโลยี แล้วให้เข้ามาต่อยอด แต่ถ้าพื้นฐานไม่ดีมันยากที่จะต่อยอด”