ไทยดัน ‘แลนด์บริดจ์’ เชื่อมอินโด-แปซิฟิก ร่วม 'IPEF’ ผนึกซัพพลายเชน 14 ประเทศ
ไทยดันแลนด์บริดจ์ เชื่อมอินโดแปซิฟิก นายกฯใช้เวทีเอเปค เพิ่มบทบาทไทยในยุทธศาสตร์อินโดแปซฟิก เชื่อมห่วงโซ่อุปทาน หุ้นส่วน IPEF กับ 13 ประเทศทั่วโลก “นลินี” ชี้โอกาสดีไทยเชื่อมความเชื่อมโยงกับตลาดโลก
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตนรี และรมว.คลัง มีกำหนดเดินทางไปร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 11 – 17 พ.ย.นี้ ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนนตรี เปิดเผยว่าการเข้าประชุมเอเปคของของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ มีภารกิจ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การพบหารือกับผู้นำประเทศต่างๆหลายประเทศ รวมทั้งมีการทวิภาคีกับผู้นำ 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ เกาหลีใต้
สำหรับการหารือกับผู้นำประเทศต่างๆนายกรัฐมนตรีจะมุ่งไปที่ การค้า การลงทุน การยกระดับเขตการค้าเสรี (FTA) ความเชื่อมโยง ผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ที่รัฐบาลไทยจะผลักดันและส่งเสริมให้มีการลงทุน
“โครงการแลนด์บริดจ์นั้นถือว่าเป็นโครงการสำคัญซึ่งหากเกิดขึ้นจะสามารถอำนวยความสะดวกในการขนส่งและเพิ่มความแข็งแรงในซัพพายเชนและการขนส่งของอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะช่วยเชื่อมการขนส่งสองฝั่งมหาสมุทรทั้งแปซิฟิกและอินเดีย และเชื่อมโยงระหว่างตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก รวมทั้งภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกประเทศหากมีการลงทุนเกิดขึ้นจริง”นายชัย กล่าว
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ภารกิจของนายกรัฐมนตรีในการไปร่วมประชุมเอเปคครั้งนี้ยังมีการเข้าร่วมกิจกรรมผู้นำภายใต้กรอบความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Forum (IPEF) โดยปัจจุบันสมาชิกของกลุ่ม IPEF จำนวน 14 ประเทศ ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไนดารุสชาลาม ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ปัจจุบัน IPEF เป็นกรอบยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯให้ความสนใจเป็นอย่างมากหลังจากที่เคยผลักดันข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ก่อนหน้านี้ ปัจจุบัน IPEF มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันกว่า 40% ของ GDPโลก และมีจำนวนประชากรครอบคลุม 60% ของประชากรโลก
ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมาเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจลงนามในข้อตกลงการดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงฯของ IPEF ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้ในการเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ที่ประเทศไทยจะผลักดันการลงทุนให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำคัญในซัพพายเชนของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วย
เปิดสาระสำคัญไทยเชื่อมซัพพายเชน IPEF
สาระสำคัญในการเข้าร่วม IPEF คือที่ผ่านมาสมาชิกได้ร่วมเจรจาร่างเอกสารความร่วมมือที่ครอบคลุมทั้ง 4 เสาความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ด้านการค้า ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสาความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
ทั้งนี้ภายใต้เสาความร่วมมือที่ 2 ประเทศหุ้นส่วน IPEF ได้เจรจาจัดทำร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อร่วมลงนามก่อนที่จะดำเนินการให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับต่อไป
ร่างความตกลงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการจัดทำนโยบายทางการค้าและการลงทุนอย่างครอบคลุมในห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมบทบาทของแรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการรับมือกับวิกฤติต่าง ๆ ที่จะนำมาซึ่งปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ลดการบิดเบือนกลไกตลาด และสนับสนุนความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน เช่น การลงทุน วิชาการ โครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างขีดความสามารถทางอุตสาหกรรม และการเสริมสร้างความเชื่อมโยง เป็นต้น
โดยร่างความตกลงฯที่ไทยจะลงนามกับสมาชิก ประกอบด้วยข้อบทที่ครอบคลุมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การประสานความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน การดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน การส่งเสริมความโปร่งใสด้านกฎระเบียบ การดำเนินความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน ได้แก่ การเสริมสร้างบทบาทแรงงาน การแก้ไขการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิแรงงานของประเทศนั้นในสถานที่ทำงานเฉพาะแห่ง การจัดตั้งกลไกเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับระบบห่วงโซ่อุปทาน
ได้แก่ Supply Chain Council, Supply Chain Crisis Response Network และ Labor Rights Advisory Board การกำหนดสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญหรือสินค้าหลัก การติดตามและแก้ไขปัญหาจุดเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน และการรับมือกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน โดยกำหนดให้ประเทศหุ้นส่วน IPEF ที่ลงนามแล้วให้สัตยาบันแสดงการยอมรับ หรือให้ความเห็นชอบความตกลงดังกล่าว ซึ่งความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับ 30 วันหลังจากวันที่ประเทศหุ้นส่วน IPEF ให้สัตยาบันอย่างน้อย 5 ประเทศ
ประโยชน์ในการเข้าร่วมของไทย
โดยประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากความตกลงฉบับนี้จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศหุ้นส่วน IPEF อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนในประเทศไทยและภูมิภาค ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมที่สำคัญ และยังส่งเสริมการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และช่วยกระจายความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งวัตถุดิบและวัตถุดิบทดแทน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงกรณีห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก รวมทั้งสนับสนุนการจัดการแก้ไขปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานให้เป็นไปอย่างรวดเร็วผ่านการดำเนินการของกลไกที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาบทบาทและศักยภาพแรงงานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทาน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดทำรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานภายใต้ IPEF และเห็นว่า ไทยจะได้รับประโยชน์จากเสาความร่วมมือที่ 2 ในการเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะเครือข่ายแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านห่วงโซ่อุปทาน การดึงดูดการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญหรือสินค้าหลัก และเป็นช่องทางสำหรับความร่วมมือเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าต่อสินค้าส่งออกจากไทย
ผู้แทนการค้ามองส่งผลดีเชื่อมซัพพายเชน
ด้านนางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่าโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในการที่นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมเอเปคที่สหรัฐฯและได้มีการเข้าร่วมการประชุมเพื่อผลักดันความร่วมมือในกรอบอินโด-แปซิฟิกจะช่วยส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก โดยจากการหารือกับตัวแทนของสหรัฐฯ และหอการค้าสหรัฐฯในประเทศไทย (The American Chamber of Commerce in Thailand (AMCHAM) ยืนยันว่าสหรัฐฯให้ความสำคัญกับประเทศไทยเนื่องจากมีความสัมพันธ์มายาวนาน และมีบริษัทเอกชนของสหรัฐฯที่มาลงทุนในไทยหลายบริษัท และบริษัทขนาดใหญ่ของไทยไปลงทุนในสหรัฐฯจำนวนมาก
โดยการหารือของนายกรัฐมนตรีกับนักธุรกิจสหรัฐฯในเวทีเอเปคจะมีการหารือในเรื่องของการแก้ปัญหาและอุปสรรคทางธุรกิจ (Ease of doing business) รวมทั้งการหารือเรื่องการขยายระยะเวลาวีซ่าธุรกิจ (Business Visa) ซึ่งเป็นเรื่องที่นักธุรกิจต่างชาติและนักธุรกิจสหรัฐฯสะท้อนปัญหาเข้ามาว่าขอให้รัฐบาลแก้ไข
“เป้าหมายในการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับนักลงทุนต่างประเทศในขณะนี้เป็นการเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตของภูมิภาคเพื่อผลิตและส่งออกไปยังประเทศอื่นๆในอาเซียน รวมทั้งการเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาค และทำเรื่องของการอัพสกิล รีสกิลให้คนไทยด้วย”