ปรับโครงสร้าง ‘บอร์ดกนศ.’ ‘เศรษฐา’ตั้ง ‘กต.’ นั่งฝ่ายเลขาฯ ลุยเจรจา ‘FTA’
“ครม.”ไฟเขียวแก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการ กนศ.ตั้งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นฝ่ายเลขาฯจากเดิมที่มีเแค่กระทรวงพาณิชย์ เตรียมรุกเจรจาการค้าต่างประเทศทำ FTA หลายฉบับ หลังนายกฯให้นโยบายเร่งเดินหน้าเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศเต็มที่
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมาเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอให้มีการปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พ.ศ. 2546
โดยปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.)ซึ่งกำหนดเพิ่มเติมให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นกรรมการ และเลขานุการร่วมกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ จากเดิมมีเพียงปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
นอกจากนั้นมีการแต่งตั้งให้อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า จากเดิมมีเพียงผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ทั้งนี้เพื่อให้องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในครั้งนี้ จะทำให้การดำเนินการในเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเรื่องที่ต้องมีการหารือเพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศและสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันโดยเร็ว
สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการ กนศ.ที่ ครม.เห็นชอบแล้วมีองค์ประกอบ 17 คน ประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรรมการ นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็น กรรมการและเลขานุการร่วม ผู้อำนวยการสำนักงานนยบายและยุทธศาสตร์การค้า และอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการร่วม
ก่อนหน้านี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ไปเร่งรัดการเจรจาข้อตกลงการเจราเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ค้างอยู่กับประเทศต่างๆ ถือว่าเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะเร่งรัดในปี 2567 ทั้งนี้ในวันที่ 22-24 พ.ย.นี้ กระทรวงการต่างประเทศจะเชิญเอกอัครราชทูตทั่วโลก เพื่อประชุมกระทรวงการรต่างประเทศเพื่อรับนโยบายโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี
โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในการเปิดงานและมอบนโยบาย คาดว่าประเด็นสำคัญที่จะแจ้งให้ทูตทั่วโลกรับทราบมี 3-4 เรื่องหลักๆ ได้แก่ เรื่องบทบาทการทูตและเศรษฐกิจ ที่ต้องการให้ทูตมีบทบาทในการเปิดประเทศ เรื่องความมั่นคง และเรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนของโลกที่ประเทศต่างๆ มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อในปีหน้ารัฐบาลจะได้รุกในตลาดต่างประเทส การทำเอฟทีเอ และการเจรจาความร่วมมือกับประเทศต่างๆได้โดยเร็ว
สำหรับข้อตกลง FTA และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่ไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับต่างประเทศ หรือมีแผนที่จะเจรจากับต่างประเทศ เช่น FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) FTA ไทย-เอฟตา โดยเจรจากับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ เอฟตา (European Free Trade Association : EFTA) มี 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์
นอกจากนั้นยังมี การเจรจา FTAกับประเทศต่างๆที่มีการเจรจาอยู่ได้แก่ แคนาดา ตุรกี และศรีลังกา ส่วนการทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ เช่น โดยเฉพาะกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐประเทศอ่าวอาหรับ หรือ GCC ที่ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การเจรจา FTA กับกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก หรือ Pacific Alliance ที่ประกอบด้วย 4 ประเทศคือ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู และกลุ่มประเทศแอฟริกาอีก 55 ประเทศด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุม กนศ.จะต้องมีการพิจรณาเรื่องของการเข้าร่วมความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (cptpp) ที่ค้างมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว โดยประเด็นที่จะต้องตัดสินใจคือประเทศไทยจะยังเข้าร่วมในข้อตกลงนี้หรือไม่
ปัจจุบันไทยมี FTA รวม 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทย ในปี 2565 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศที่มีข้อตกลง FTA ร่วมกัน เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น