เศรษฐา มั่นใจ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านผ่านสภาฯ ลั่น ดิจิทัล วอลเล็ตเริ่ม พ.ค.67
“เศรษฐา” มั่นใจ พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทผ่านสภาฯ บังคับใช้ทัน พ.ค.67 เริ่มโครงการดิจิทัล วอลเล็ตได้ตามกำหนด แจงเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 10 ปีเฉลี่ย 1.9% หากไม่กระตุ้นครั้งใหญ่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจลำบาก ชี้ขอบเขตกระตุ้นการใช้จ่ายในระดับอำเภอช่วยเอสเอ็มอีในท้องถิ่นได้
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กล่าวว่ารัฐบาลมีแผนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านวงเงิน 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกวงเงิน 5 แสนล้านบาท จะใช้สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ให้กับประชาชนเป้าหมาย 50 ล้านคน ส่วนอีกส่วนหนึ่งวงเงิน 1 แสนล้านบาทรัฐบาลจะใช้งบประมาณในการเติมเงินในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 13 อุตสาหกรรม
ในส่วนของที่มาของเงิน 5 แสนล้านบาท รัฐบาลจะใช้วิธีออก พ.ร.บ.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท โดยจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมายก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อนจะเข้าสู่การประชุมของสภาฯในปี 2567 และอีกส่วนหนึ่งคือการใช้งบประมาณเติมในกองทุนขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 1 แสนล้านบาทเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ
เช่น เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคคลากรทางการศึกษา เป็นต้น ซึ่งกองทุนนี้จะใช้ในการดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องต่อไป
ชี้ออก พ.ร.บ. 5 แสนล้านมีความเหมาะสมสุด
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงแหล่งเงินทุนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตด้วยว่ารัฐบาลได้ประกาศเรื่องแหล่งเงินทุนอย่างรอบคอบ ซึ่งเราไม่ได้มองแค่การใช้ตัวเลือกใดตัวเลือกนึง เราดูถึง Hybrid option ที่ผสมผสานหลายๆแนวทางด้วย ในวันนี้ คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออก พระราชบัญญัติ เป็นวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฏีกา เพื่อให้การออก พรบ. กู้เงินดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องการออก พรบ. จะมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี
“มั่นใจว่า ในที่สุดแล้วจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติการกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet ให้เป็นไปด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และรัฐบาลจะทำการกู้เงิน ก็ต่อเมื่อ มีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด ซึ่งนี่จะเป็นการทำให้เงินในระบบทั้งหมดใหญ่ขึ้นกว่า 5 แสนล้าน ซึ่งจะหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยยะ” นายเศรษฐา กล่าว
ทั้งนี้ที่ประชุมฯได้เห็นชอบกำหนดเงื่อนไขของโครงการ Digital Wallet 10,000 บาท แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับเงิน จำนวน 50 ล้านคน โดยแจกให้กับคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 7 หมื่นบาท และมีเงินออมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท
“นโยบายนี้จะส่งผลดีต่อประเทศใน 2 ด้าน หนึ่ง กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้นโดยมี “ประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญผ่านการบริโภคและการลงทุน สอง วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว”
ส่วนระยะเวลา และขอบเขตในการใช้เงิน กำหนดให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้จ่ายเงินในระยะเวลา 6 เดือน นับจากวันที่เริ่มโครงการ ส่วนร้านค้าสามารถเข้าร่วมโครงการได้ทั้งที่เป็นร้านค้าในระบบภาษี และไม่ใช่ระบบภาษี โดยให้ร้านค้าสามารถใช้จ่ายหมุนเวียนได้จนถึงเดือน เม.ย. 2570 ส่วนร้านค้าที่สามารถแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นเงินบาทได้จะต้องเป็นร้านค้าในระบบภาษีเท่านั้นโดยขอบเขตการใช้งาน ให้ใช้งานในรัศมีอำเภอตามบัตรประชาชนเท่านั้น
กำหนดประเภทสินค้าที่ไม่สามารถใช้งานได้
ทั้งนี้กำหนดเงื่อนไขการใช้งานของเงินดิจิทัลว่า ไม่สามารถซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ไม่สามารถซื้อของที่เป็นอบายมุข เหล้า สุรา ไพ่ กัญชา กระท่อม ไม่สามารถซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด เพชร พลอย ทองคำ อัญมณี ไม่สามารถชำระหนี้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติได้ ไม่สามารถจ่ายค่าเทอมได้ ไม่สามารถซื้อบริการต่างๆได้
ส่วนนคนที่ไม่ได้รับสิทธิ Digital Wallet 10,000 บาท สามารถเข้าโครงการ e-VAT Refund ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้ใบกำกับภาษี มาประกอบการยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีในปีถัดไป
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อด้วยว่าการพัฒนาโครงการนี้ใช้ระบบเป๋าตั้งโดยให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมของเป๋าตังซึ่งมีประชาชนลงทะเบียนอยู่แล้ว 40 ล้านคน และมีร้านค้าที่คุ้นเคยอยู่แล้วกว่า 1.8 ล้านร้านค้า โดยระบบเป๋าตังมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งจะลดระยะเวลา ประหยัดงบประมาณ และลดความซ้ำซ้อนในการสร้างและดูแลรักษาระบบ กระทรวงการคลังเอง ก็มีความคุ้นเคยในการกำกับดูแลและบริหารจัดการ ป้องกันการทุจริตต่างๆ โดยเราจะพัฒนาต่อยอดระบบเป๋าตัง ให้สามารถทำงานโดยมี Blockchain อยู่ด้านหลังเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งระบบ Blockchain จะทำให้รัฐป้องกันการทุจริตได้ และหากมีใครฝ่าฝืนแก้ไข ทุจริต ระบบก็จะสามารถตรวจสอบได้ทันที การมีระบบ Blockchain จะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการทำ e-Government ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สร้างความโปร่งใส ลดการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม
ส่งกฤษฎีกาตีความร่างกฎหมายภายในเดือน พ.ย.
สำหรับระยะเวลาในการดำเนินโครงการนี้กำหนดว่าภายในเดือน พ.ย.66 จะส่งกฤษฎีกาตีความและดำเนินกระบวนการทางสภาฯ และส่งเข้าสู่พิจารณาของสภาฯภายในเดือน ม.ค.67 ควบคู่กับการเริ่มเปิดโครงการ
e-VAT Refund ขณะที่ช่วงเดือนมี.ค.จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนยืนยันสิทธิ์ เดือน พ.ค.67 จะเริ่มโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนในเดือน มิ.ย.67 จะเริ่มโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามรูปแบบที่รัฐบาลคิดไว้
นายเศรษฐากล่าวด้วยว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในครั้งนี้ นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล (Partnership) ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ ขอให้ประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิร่วมกันใช้จ่ายด้วยความภาคภูมิใจ โดยทุกคนล้วนเป็นผู้ร่วมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยการที่ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากเฉลี่ยแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยแค่ 1.9% เท่านั้น และมีความเหลื่อมล้ำสูงมากในสังคม ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่สูงระดับ 91% ของจีดีพีส่งผลให้ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยการจับจ่ายใช้สอยจะต้องเริ่มที่ชุมชนระดับอำเภอก่อนเสมอ เป็นการรดน้ำทั่วประเทศให้เขียวไปพร้อมๆกัน ทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจนี้ จะเป็นเงินที่ให้ประชาชนช่วยกันกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งจะนำมาสู่การลงทุนในภาคประชาชน ทั้งการรวมเงินในครัวเรือนเพื่อประกอบอาชีพ การซื้อ-ขายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า ไปจนถึงการสั่งผลิตสินค้าในโรงงาน SME ไปจนถึงโรงงานขนาดใหญ่
“ถ้าเราไม่เติมเงินใหม่เข้าไป จะไม่มีเงินหมุนเวียนเพียงพอ ประชาชนก็ไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย กำลังซื้อก็ถดถอย การบริโภคในประเทศจะตกต่ำลงไปอีก แต่เมื่อเราเติมเงินในกระเป๋าของประชาชน ให้ประชาชนช่วยกันมาใช้เงิน ซื้ออาหารมากินก็ได้ ซื้อสินค้ามาลงทุนก็ดี เงินยิ่งหมุนไปหลายรอบ การค้าขายยิ่งคึกคัก ธุรกิจขนาดเล็กจะค่อยๆเติบโต หนี้สินจะค่อยๆ หมดไป”นายกรัฐมนตรี กล่าว